431 ปีก่อนคริสตกาล ฮิปโปเครตีส บิดาแห่งการแพทย์ ให้ข้อคิดไว้ว่า "จงให้อาหารเป็นยา และให้ยาเป็นอาหารของคุณ" ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เมื่ออาหารมีความสะดวกและผ่านการแปรรูปมากขึ้น น้ำหนักของผู้คนก็เพิ่มขึ้น ขณะที่สุขภาพกลับลดลง
โรคยอดฮิตของคนไทยปัจจุบัน คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะโรคไขมันในเลือด ที่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร หากเราเลือกกินอาหารโดยคำนึงถึงคุณค่าที่จะได้รับก็จะช่วยควบคุมระดับไขมันในร่างกายได้
ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร ตั้งแต่อดีตเราใช้ประโยชน์จากพืชที่อยู่ในท้องถิ่นในการทำอาหาร และทำเป็นยารักษาโรคมานาน กลายเป็นองค์ความรู้ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
พืชผักชนิดไหนเป็นยาให้ดูที่ “รสผัก” เริ่มจากผักที่มี “รสฝาด” อย่างกล้วยดิบ ยอดเม็ก มะเดื่อ ช่วยรักษาแผล แก้ท้องเสีย ท้องอืด
ส่วนผัก “รสเปรี้ยว” พวกมะดัน ชะมวง ฯลฯ ช่วยกระตุ้นต่อมน้ำลาย ทำให้เจริญอาหาร
“ผักรสหวานอ่อน” พวกดอกขจร ดอกข้าวสาร ผักหวาน ช่วยบำรุงร่างกายให้ชุ่มชื่น มีสารต้านอนุมูลอิสระ
“ผักรสขม” พวก มะระขี้นก ดอกขี้เหล็ก ฟักข้าว มีสารบำรุงตับ ถอดพิษ ลดไข้ ช่วยฟอกเลือด
“ผักรสหอมเย็น” เช่น ผักบุ้งไทย เตยหอม ดอกขจร กินแล้วสดชื่น แก้ลม หน้ามืดตาลาย
“ผักรสมัน” เช่น สะตอ เนียง ถั่วพู ขนุนอ่อน แก้อาการเส้น เคล็ดขัดยอก อาการกระตุก
“รสเผ็ดร้อน” อย่างขิง ข่า กระชาย ช่วยขับพิษ บำรุงปอด
แม้ว่าทุกมื้อของเราจะไม่ได้เลือกทานพืชผักและสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยาโดยตรง แต่ก็ยังสามารถบริโภคอาหารให้เป็นยาได้ง่าย ๆ เพียงรู้จักปรุงให้สมดุล เช่น “ข้าวผัดกระเพรา” ให้เลือกใส่น้ำมันน้อย ๆ เน้นเนื้อสัตว์ที่เป็นโปรตีน เติมผักอย่างหอมใหญ่ ถั่วฝักยาว กินคู่กับข้าวกล้อง เมนูน้ำพริกกะปิ ได้โปรตีนจากกะปิ เสริมคุณประโยชน์ด้วยพริก กระเทียม มะนาว กินกับผักสด ผักลวก แบบนี้เรียกว่ากินแบบสมดุล กินยังไรก็สุขภาพดี
กินอาหารเข้าคู่ ช่วยชูรสชาติ ในตำราหมอยาไทย แนะนำหากกินแกงเลียงที่มีฤทธิ์ร้อน ให้ใส่ผักฤทธิ์เย็น อาทิ บวบ ฟักทอง แกงกะทิให้เติมมะเขือพวง เพราะกะทิมีคอเรสเตอรอล ส่วนมะเขือพวงช่วยลดคอเรสเตอรอล
ผัก ผลไม้ กินเสริมภูมิต้านทาน
กลุ่มที่มีสารสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ กะเพรา หอมแดง หอมหัวใหญ่ มะรุม พลูคาว ใบหม่อน แอปเปิล เปลือกของพืชตระกูลส้ม (ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า)
กลุ่มที่เสริมภูมิคุ้มกัน ได้แก่ คะน้า ใบเหลียง ยอดสะเดา มะระขี้นก ดอกขี้เหล็ก มะรุม ฟักข้าว ผักเชียงดา ผักแพว มะขามป้อม ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี
![]() |
คะน้า |
กลุ่มที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ เห็ด พลูคาว ตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม)
แนะนำเมนูอาหารเป็นยา
- ต้มโคล้งปลากรอบ ปลาช่อนแห้งอุดมด้วยแคลเซียม สมุนไพร ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ต้นหอม ผักชี ผักชีฝรั่ง พริกขี้หนู พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง มีสารสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส เห็ดชนิดต่าง ๆ และมะนาว ซึ่งมีสารสำคัญ เช่น สารเคอร์ซีทิน เบต้ากลูแคน และวิตามินซี ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ไม่ป่วยง่าย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพ
- สะเดาน้ำปลาหวาน ปลาดุกย่าง ยอดสะเดาอุดมไปด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารกลุ่มเฟลโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง และมีวิตามินซีสูงด้วย ทำให้ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย แก้ไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล นับเป็นเมนูอาหารไทยที่อร่อยแถมยังดีต่อสุขภาพ
- แกงส้มมะรุม ช่วยลดคอเลสเตอรอล รักษาโรคโลหิตจาง บำรุงหัวใจ ลดน้ำตาล ลดไข้ แก้หวัด บรรเทาอาการไอ และมีสารเคอร์ซีติน ที่มีศักยภาพในการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกาย ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย
- ต้มยำเห็ด หอมแดงมีสารเคอร์ซีติน (quercetin) ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกาย เห็ด มีสารเบต้ากลูแคน ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ไม่ป่วยง่าย น้ำมะนาว มีวิตามินซีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- คิดอะไรไม่ออกเรามักจะสั่งผัดกะเพรา แล้วก็มาล้อกันว่าเป็นเมนูสิ้นคิด แต่ความจริงแล้ว ผัดกระเพรา คือเมนูซุปเปอร์ฟู้ดเลยทีเดียว เพราะว่าใบกะเพรามีสารโอเรียนทิน (orientin) ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อของเซลล์ ช่วยป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยจากเชื้อไวรัส แถมยังมีสารสำคัญที่มีศักยภาพในการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์

ยังมีเมนูอาหารเป็นยาอีกหลากหลายเมนู “สุขสาระ” จะนำเสนอในโอกาสต่อไป
หลายคนเชื่อว่า กินโสมช่วยบำรุงร่างกาย แต่ถ้าพิจารณาให้ชัดเจนจะพบว่า โสมเป็นสมุนไพรที่ มาจากประเทศหนาว คนที่นั่นกินโสม เพื่อบำรุงร่างกายให้อบอุ่น แต่คนไทยอยู่ในประเทศร้อนชื้น ไม่น่าจะเหมาะ ดังนั้น กินพืชผักปลูกในประเทศจึงดีที่สุด
ถึงเวลาที่ต้องเลือกว่าจะกินอาหารให้เป็นยา หรือจะกินยาเป็นอาหารกันแล้ว!
https://www.everydayhealth.com/diet-nutrition/food-as-medicine-what-it-means-and-how-to-reap-the-benefits/
https://www.foodinspirationmagazine.com/48-food-as-medicine/why-food-as-medicine-is-your-best-medicine
https://www.rajavithi.go.th/rj/?p=5593
https://www.nationtv.tv/lifestyle/health-beauty/378891679
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/tips-for-you/thai-food.html
เดือนมกราคม 2566
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น