นายแพทย์กษิดิษ ศรีสง่า
การงีบหลับ หรือ Nap ในภาษาอังกฤษ ในภาษาอาหรับ เรียกว่า ก็อยลูละฮฺ (القيلولة) สเปนเรียก เซียสต้า (siesta) เป็นกิจกรรมที่มีมานานมากแล้ว และเป็นที่นิยมกันหลายๆแห่งทั่วโลก ในศาสนาอิสลามเรา มีการกล่าวถึงการนอนกลางวันเอาไว้ด้วยว่า เป็นสิ่งที่ เหล่าบรรดามิตรสหายของท่านศาสดานิยมทำกันดังเช่นหะดีษที่เล่าโดยท่านอนัส (เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ) ได้กล่าวว่า
“พวกเรานั้นจะละหมาดวันศุกร์แต่เนิ่น ๆ และพวกเราจะก็อยลูละฮฺหลังละหมาดวันศุกร์” [อัลบุคอรีย์ 1/287 ลำดับหะดีษที่ 905]
ซึ่งหมายถึงว่าหลังละหมาดวันศุกร์แล้ว จะมีการงีบนอนกันชั่วครู่ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนและทำให้มีกำลังในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืน
คนทั่วไป คิดว่า การงีบในตอนกลางวัน ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ถูกมองว่า เป็นความเกียจคร้าน งานวิจัยบางชิ้น รายงานว่า การนอนกลางวันทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเข้าไปอ่านข้างในแล้วปรากฏว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการนอนไม่หลับในตอนกลางคืนหรือนอนไม่พอในแต่ละวันมากกว่า
แต่ในปัจจุบัน กลับมีรายงานการวิจัยมากมาย บอกว่า การนอนกลางวันเพียงเล็กน้อยให้ประโยชน์กับร่างกายเป็นอย่างมาก เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของสมองให้ทำงานได้อย่างมีคุณภาพตลอดวัน ต่างกับผู้ที่ไม่นอนกลางวันซึ่งประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงในช่วงเวลาเย็น
มีการทดลองให้อาสาสมัครเรียนเรื่องยากๆ และให้กลุ่มหนึ่งได้นอนกลางวัน อีกกลุ่มหนึ่งไม่นอน ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ได้นอนกลางวัน สามารถทำแบบทดสอบได้ดีกว่าอย่างชัดเจน และมีนัยสำคัญ
องค์การนาซาเอง ยังออกมาสนับสนุนเรื่องการนอนกลางวัน ว่าให้หาเวลานอนสักประมาณยี่สิบนาที ไม่ให้เกิน แล้วจะรู้สึกสดชื่นขึ้น แต่ไม่ใช่นอนไปเรื่อย ๆ หลาย ๆ ชั่วโมง หรือตลอดวัน อย่างนั้นจะทำให้ปวดศีรษะ และจะกลายเป็นคนเกียจคร้านไปจริง ๆ
ผู้เขียนเองเคยอ่านเคล็ดลับของผู้ที่สอบมัธยมปลายได้ที่หนึ่งของประเทศไทยในสมัยยังเด็ก เขาบอกว่าเคล็ดลับในการดูหนังสือของเขาก็คือ การดูหนังสือหลายๆชนิดหมุนเวียนกันไป ไม่ดูชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่เป็นเวลานานๆ เช่น ดูหนังสือวิทยาศาสตร์ สักหนึ่งเรื่อง และสลับไปดูวรรณคดี แล้วหันกลับมาดูภาษาอังกฤษ และสลับไปดูสังคม เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ และเมื่อดูจนเริ่มล้าแล้ว ให้นอนหลับเสีย ในช่วงนอนนั้นเอง สิ่งที่เราดูไว้มันจะเรียบเรียงตัวเอง และทำให้จำได้ดีขึ้น หลังจากนั้นเมื่อตื่นขึ้นมาดูใหม่ จะพบว่ามันง่ายมากเลยจอร์จ!!! ซึ่งเมื่อผู้เขียนนำไปปฏิบัติบ้างก็ได้ผลอย่างเดียวกัน และได้ใช้การนอนกลางวันประมาณวันละสิบนาทีมาตลอดจนปัจจุบัน และพบว่าช่วยในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงอยากจะนำมาบอกกล่าวกันไว้ เพื่อให้น้อง ๆ ที่กำลังดูหนังสือลองใช้วิธีนี้ จะทำให้ดูได้มากขึ้น ทนขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สิ่งที่เป็นดังนี้ เพราะปัจจุบันเขาพบว่า เวลาที่เรานอนหลับนั้นสมองจะจัดการเรียบเรียงความจำขึ้นมาใหม่ โดยในช่วงที่เราอ่าน ความจำจะไปอยู่ที่หน่วยจำชั่วคราวข้างๆ สมองเรียกว่า ฮิปโปแคมปัส ก่อน หลังจากนั้น เมื่อเรานอนความจำ จากฮิปโปแคมปัสจะถูกนำมาย่อย และเรียบเรียงใหม่ให้สมบูรณ์ แล้วส่งไปยังส่วนความจำถาวร เรียกว่า นีโอคอร์เทกซ์ ดังนั้นถ้าเราดูหนังสือไปเรื่อย ๆ ใช้สมองไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้พัก ความจำจะแน่นฮิปโปแคมปัส และอัดไม่เข้า เราดูไปก็ไม่สามารถจำอะไรได้เพิ่ม เท่ากับเสียเวลาดูไปเปล่า ๆ แต่เมื่อเรานอนหลับ ความจำเหล่านี้ จะถูกย่อย และย้ายไปสู่นีโอคอร์เทกซ์ ทำให้ฮิปโปแคมปัสว่างเปล่า และสามารถรับความจำเรื่องใหม่ๆ ได้อีก และความจำที่อยู่ในนีโอคอร์เทกซ์ จะกลายเป็นความเข้าใจ ทำให้เราต่อเรื่องได้ดีขึ้น
ดังนั้น พวกเราควรหาโอกาสนอนกลางวันกันบ้างสักเล็กน้อย โดยหาที่เงียบ ๆ นอนสักงีบหนึ่ง แต่ต้องจำไว้ว่า ต้องไม่นาน ประมาณสิบถึงยี่สิบนาทีพอ และ ไม่จำเป็นต้องนอนแบบเต็มสูตร คือ หอบที่นอนหมอนมุ้งมาครบ แต่ควรเป็นการงีบหลับที่โต๊ะทำงาน ในช่วงพัก หรือบนเก้าอี้ หลังทานอาหารเที่ยงแล้ว และจะพบว่านอกจากจะเป็นการทำตามแบบที่ศอฮาบะห์นิยมกระทำกันแล้ว ยังสามารถเพิ่มประสิทฺธิภาพในการทำงานให้ดีกว่าเดิมได้ด้วยครับ วัสลามฯ
สุขสาระ มีนาคม 2554
เดือนมกราคม 2566
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น