อาหารเสริมกับโฆษณาเกินจริง

การตลาดยุคโซเชี่ยล ทำให้โฆษณาสินค้า เข้าถึงและโน้มน้าวผู้บริโภคได้ง่าย จึงทำให้ต้องมีการควบคุมและเข้มงวดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อค่อนข้างสูง

เรามักเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางหน้าเว็บต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมักอวดอ้างว่าสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ หรือ มีข้อความที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณเพื่อบำรุงผิวพรรณและความสวยงาม หรือ มีข้อความที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณในการลดน้ำหนัก หรือมีข้อความที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณบำรุงกาม บำรุงเพศ หรือเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์

ล่าสุด สำนักงานอาหารและยาได้ออกมาเตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยให้รักษาโรคตาได้ ทั้งต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ วุ้นตาเสื่อม และเบาหวานขึ้นตา หรือนำรูปที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นจักษุแพทย์มาใช้ประกอบการโฆษณาเพื่อให้ผู้ป่วยหลงเชื่อและซื้อมารับประทานแต่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่พิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านั้นรักษาโรคตาได้ ดังนั้นหากผู้บริโภคมีอาการตาผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคตา โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคตา เพราะอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่มีความรุนแรงขึ้นจนสูญเสียการมองเห็นได้ วิธีการที่ดีที่สุด คือผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อการรักษาโรคอย่างถูกต้อง

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาการได้รับอนุญาตและการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องแสดงฉลากเป็นภาษาไทย มีข้อมูล เช่น ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต/ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า (ผลิตภัณฑ์นำเข้าต้องระบุประเทศผู้ผลิตด้วย) ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญและส่วนประกอบที่มีการกล่าวอ้างคุณประโยชน์ ปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บรรจุ วันเดือนปีที่ผลิต และ/หรือ วันเดือนปีที่หมดอายุหรือควรบริโภคก่อน

อย.

และควรปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ขอให้รู้เท่าทันการโฆษณาอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณใด ๆ มารับประทาน เพราะอาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายอย่างคาดไม่ถึง

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556


ข้อมูล
https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2347
https://workpointtoday.com/fda-3/

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 218
เดือนกุมภาพันธ์ 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th 

ความคิดเห็น