ทุกวันนี้มีการกล่าวอ้างถึงคุณประโยชน์ของสมุนไพรกันอย่างมากมาย จนหลายคนก็จะรู้สึกเคลิ้มตาม แต่สิ่งที่ผู้ขายไม่บอก คือ อันตรายจากการใช้สมุนไพร ซึ่งสามารถแยกออกเป็น 3 ประการ ดังนี้
1. อันตรายที่เกิดจากโรคที่ขาดการรักษา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคหืด ซึ่งแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ช่วยได้เพียงการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ และป้องกันโรคแทรกซ้อน บางคนเบื่อทานยาแล้วหันมารักษาด้วยสมุนไพรแทน แต่สมุนไพรหลายชนิดอาจไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค
นอกจากนี้โรคที่เป็นอาจไม่แสดงอาการชัดทำให้เข้าใจว่า โรคหายแล้ว จึงหยุดการรักษาที่ถูกวิธีไป ซึ่งนานไปโรคเดิมอาจกลับมากำเริบ และส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้
2. อันตรายที่เกิดจากฤทธิ์ของสมุนไพรโดยตรง สมุนไพรหลายชนิดจะมีสารเคมีที่เป็นพิษร้ายแรงปะปนอยู่ ถ้าได้รับเข้าไปจะทำให้เกิดอาการจากพิษนั้น ๆ เช่น มะเกลือ ผลของมันเมื่อแก่เต็มที่จนมีสีดำ อาจจะมีสาร naphthalene ซึ่งเป็นพิษต่อประสาทตาโดยตรง หรือ ยี่โถ เราพบว่า มีพิษอยู่ในใบของมัน หากได้รับสารนี้จะทำให้หัวใจเต้นช้าลง และอาจหยุดได้
3. อันตรายจากสารเจือปนในสมุนไพร ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ยาสมุนไพร เพื่อหาสารเจือปนที่จะเป็นอันตรายพบว่า ส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของ *arsenic 60% และสาร *steroids กว่า 30% นอกจากนั้นยังมีสารอันตรายอื่น ๆ เช่นปรอทหรือสารตะกั่ว เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการใช้สมุนไพรโดยขาดความเข้าใจ รายงานจากประเทศออสเตรเลียกล่าวถึง การแพ้อาหารเสริม “นมผึ้ง” ทำให้ถึงตายได้เนื่องจากอาการหืดในผู้ป่วยที่แพ้โปรตีนในนมผึ้ง
ในประเทศไทยเคยมีรายงานว่ามีการนำใบขี้เหล็กมาขายในรูปแบบยาเม็ด ทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งระดับความรุนแรงของภาวะตับอักเสบมีตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนและมีตัวเหลืองตาเหลือง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงมีมติให้ระงับการผลิตและเก็บยาสมุนไพรขี้เหล็กซึ่งเป็นสูตรยาเดี่ยวออกจากตลาด
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้สมุนไพรส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้สมุนไพรผิดชนิด เพราะมีรูปลักษณะคล้ายคลึงกัน หรือการนำมาใช้โดยผิดวิธี เช่น โบราณใช้มะเกลือผสมกะทิในการถ่ายพยาธิ แต่กลับนำไปต้มโดยไม่ผสมกะทิ อาจเกิดพิษทำให้ตาบอดได้
สิ่งสำคัญก่อนใช้สมุนไพร ควรศึกษาและอ่านฉลากให้ละเอียดถี่ถ้วน ควรเลือกซื้อสมุนไพรจากร้านยาคุณภาพที่มีใบอนุญาตและมีเภสัชกรประจำ และสินค้านั้นต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา บรรจุอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ชำรุด
หมายเหตุ * :
Arsenic ในตำราแพทย์โบราณเชื่อว่าสารนี้มีคุณสมบัติกระตุ้นให้กระชุ่มกระชวย แต่ถ้ากินมากไปอาจจะเกิดพิษได้ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษนี้อาจมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงด้วย
Steroids มีคุณสมบัติบรรเทาอาการของโรคหลายชนิด หากใช้ติดต่อกันนานจะทำให้ติดยา และถ้าหยุดยาเฉียบพลัน อาจทำให้ช็อคได้
https://www.hfocus.org/content/2017/06/14141
https://www.tmwa.or.th/new/lib/file/20170713195709.pdf
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โทษและอันตรายจากการใช้/
เดือนกุมภาพันธ์ 2566
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น