ตอฮีตร์ สายสอิด รายงาน
ผลการวิจัยของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. ชี้ว่า ประชากรมุสลิมไทยมีปัญหาสำคัญ 3 ด้าน คือ ปัญหาความยากจน ปัญหาการศึกษา และปัญหาการสูบบุหรี่ ที่ด้อยกว่าคนไทยในภาพรวม ด้วยเหตุดังกล่าว ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความยากจนในหมู่มุสลิมไทย จึงเป็นปัญหาที่ต้องการการดูแลแก้ไขที่มีประสิทธิผล และเนื่องจากอิสลามมีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ดี คือ ระบบซะกาต อยู่แล้ว สสม. จึงได้จัดทำโครงการเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับภูมิภาคขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย สสม. กับเครือข่ายองค์กรพันธมิตร ในพื้นที่จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดตรัง และจังหวัดระนอง ร่วมกันผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนซะกาตในแต่ละภูมิภาค ที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
ตลอดเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะทำงานของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย ได้ลงพื้นที่พบปะแกนนำชุมชนในพื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าว ได้แก่ สมาพันธ์ผู้บริหารมัสยิด 4 อำเภอ จ.สงขลา (จะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย) สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.ปัตตานี ชมรมมุสลิมสัมพันธ์ จังหวัดตรัง และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดระนอง เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ พร้อมทั้งเชิญชวนองค์กรพันธมิตรดังกล่าวเข้าร่วมโครงการกับ สสม. ที่จะส่งผลให้สังคมมุสลิมโดยรวมมีการพัฒนาและสามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้ดึฃึ้นต่อไป
ตลอดเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา สสม. จัดเวทีพบปะแกนนำเครือข่ายกองทุนซะกาต โดยมีต้นแบบกองทุนซะกาต สสม. จาก 5 พื้นที่ ในกรุงเทพฯ จ.เชียงใหม่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา (2 ต้นแบบ) ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของแต่ละกองทุนต้นแบบ เพื่อให้องค์กรพันธมิตรทั้ง 4 แห่ง และภาคีกองทุนซะกาต (ลูกข่าย) ทั้ง 36 แห่ง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งสร้างกระบวนการทำงานของแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากองทุนและส่งเสริมให้ระบบนี้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนในหมู่มุสลิมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้องค์กรพันธมิตรทั้ง 4 แห่ง จะร่วมกันสร้างกระบวนการร่วมกับภาคีเครือข่าย (ลูกข่าย) ในพื้นที่อย่างน้อยพื้นที่ละ 9 แห่ง ร่วมกับองค์กรมุสลิม องค์กรศาสนา และองค์กรภาคประชาสังคม ตลอดจนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อออกแบบและร่วมสร้างกระบวนการขับเคลื่อนกองทุนซะกาตในพื้นที่ของตน เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรหรือชุมชนต่างๆ สามารถจัดตั้งกองทุนซะกาต โดยมีรูปแบบและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการและการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาต
โดย สสม.ได้ออกแบบกระบวนการขับเคลื่อนกองทุนซะกาต สสม. เพื่อเป็นแนวทางในหนังสือคู่มือ Zakat Kit ไว้ดังนี้
- การสำรวจข้อมูลชุมชน ว่าในแต่ละปีมีผู้จ่ายซะกาตจำนวนกี่คน และผู้มีสิทธิ์รับซะกาตจำนวนกี่คน
- การจัดตั้งคณะทำงาน วางตำแหน่งให้เหมาะสมกับตัวบุคคลเช่น ประธาน รองประธาน เหรัญญิก เลขาฯ
- การยกร่างกฎระเบียบกองทุน เช่น อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ เงื่อนไขการแจก - จ่ายซะกาต การประชุม การจัดทำรายรับ - ร่ายจ่าย หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันในการบริหารกองทุนฯ
- การเดินหน้ากองทุน โดยการประชาสัมพันธ์ การจัดเก็บซะกาต การพิจารณา และการมอบซะกาตแก่ผู้มีสิทธิตามหลักศาสนา
- การติดตามและประเมินผล การรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนประกาศในปีที่ผ่านมาต่อสาธารณะ
- การพัฒนาและยกระดับ ผ่านการประชุมวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคและหาแนวทางแก้ไข เพื่อพัฒนากองทุนให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ประชุมวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคและหาแนวทางแก้ไขเพื่อพัฒนากองทุนให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้
หากโครงการนี้ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และสามารถผลักดันระบบซะกาตให้ดำเนินไปได้เต็มรูปแบบก็จะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนของมุสลิมไทย เพราะแก้ไขปัญหาได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ลดปัญหาความยากจนในพื้นที่ สร้างรายได้ เพิ่มการเข้าถึงการศึกษา ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงปัญหาสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ดีขึ้นต่อไป
เดือนกุมภาพันธ์ 2566
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น