รายงาน : กองทุนซะกาตช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ของสังคมมุสลิมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนยากจน

ทวีศักดิ์ หมัดเนาะ

ทุกวันนี้ สังคมมุสลิมยังปรากฏภาพคนขอทานที่เดินไปขอเงินบริจาคตามบ้าน ตามชุมชน และตามมัสยิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันศุกร์จนเห็นเป็นเรื่องปกติ แท้ที่จริงกลุ่มคนเหล่านี้จำนวนมากที่ขอเป็นอาชีพ แม้มีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์และยังอยู่ในวัยทำงาน สามารถประกอบสัมมาชีพที่สุจริตและมีเกียรติได้ แต่พวกเขาเลือกที่จะขอเงินจากผู้อื่นที่พบเห็นในสังคม อีกอย่างหนึ่งก็คือ การขอเรี่ยไรเงินโดยอาศัยศรัทธาทางศาสนาที่ดำเนินการโดยชาวต่างชาติ จำนวนไม่น้อยที่หลอกลวง ทำกันเป็นกระบวนการ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้ที่ถูกเรี่ยไร นอกจากนั้น ยังสร้างความหวาดระแวงสงสัยรวมทั้งสร้างความเสื่อมเสียให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่ถูกอ้างอิงอีกด้วย

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ เป็นเรื่องน่าละอายยิ่ง ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของสังคมมุสลิมโดยรวม เรามิได้ปฏิเสธหรือรังเกียจความยากจน หรือปฏิเสธว่าไม่มีคนยากจน และยิ่งมิได้ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ หรือปฏิเสธศรัทธาต่อบทบัญญัติของอิสลามเรื่องซะกาตและซอดะเกาะฮ์แต่อย่างใด แต่การขอ การเรี่ยไร และการให้ความช่วยเหลือ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นเครื่องมือของการทำร้ายทำลายภาพลักษณ์ของสังคมมุสลิม และแสดงถึงการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนยากจนอีกต่อไป

สังคมมุสลิมสามารถกอบกู้ภาพลักษณ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนยากจนได้ด้วยวิธีการดังนี้

1. จัดตั้งกองทุนซะกาตที่มีความน่าเชื่อถือ มีระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ ระบบฐานข้อมูลผู้บริจาค (Source of Fund) ระบบฐานข้อมูลผู้รับบริจาค (Use of Fund) ระบบบัญชีการเงินและการลงทุน (Financial Management and Investment) ระบบการบริหารโครงการ (Project Management) ระบบการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร (Training and Development System) ระบบข้อมูลการบริหารเพื่อการตัดสินใจ (Management Information System) ฯลฯ เป็นต้น ระบบงานเหล่านี้ถูกจัดทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยทุกกองทุนฯ นำไปใช้ร่วมกัน (Standardization) โดยมีหน่วยงานกลางที่จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลของทุกกองทุนฯ เข้าด้วยกันในระบบออนไลน์ เพื่อให้สามารถตรวจสอบการดำเนินงานของแต่ละกองทุนฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กองทุนซะกาตและหน่วยงานกลางควรที่จะได้รับการรับรองและสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรบริหารกิจการศาสนาอิสลามด้วย

2. กองทุนซะกาต จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพหรือจัดหางานให้แก่ผู้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจังต่อเนื่อง แทนการให้เงินเป็นครั้งคราวจนกระทั่งทำให้ผู้รับบริจาคมีรายได้และฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีเพียงพอแก่การดำรงชีวิตตามปกติของตนและครอบครัว และอาจพัฒนาจนปรับเปลี่ยนจากผู้รับบริจาคเป็นผู้ให้การบริจาคได้ในอนาคต

3. ผู้ขอรับบริจาครายหนึ่งจะสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้จากกองทุนใดกองทุนหนึ่งเพียงแห่งเดียวเท่านั้น การเปิดโอกาสให้คนยากจนได้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนถือเป็นการกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองเพราะหากพวกเขาไปขอรับความช่วยเหลือจากคนร่ำรวยเป็นการส่วนตัว คนขอก็จะรู้สึกด้อยศักดิ์ศรีที่ต้องแบมือขอ คนให้ก็อาจให้ด้วยความรู้สึกสมเพชและดูถูก และอาจเกิดความหวาดระแวงว่าจะต้องให้จนเป็นภาระอย่างต่อเนื่องต่อไปนานสักเท่าใด แตกต่างจากการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ กองทุนฯ จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องให้ มิได้ให้เพราะหวังสร้างบุญคุณเหนือผู้อื่น ผู้รับความช่วยเหลือก็จะไม่รู้สึกว่าตนเองด้อยศักดิ์ศรีที่ต้องมาขอ แต่มาเพื่อเรียกร้องสิทธิของคนจนที่อยู่เหนือคนร่ำรวยตามที่ศาสนาบัญญัติไว้ ไม่มีผู้ศรัทธาคนใดจะปฏิเสธได้ และเมื่อพวกเขาเข้าสู่โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยระยะหนึ่ง การให้ความช่วยเหลือย่อมมีเวลาสิ้นสุดลง และพวกเขาก็จะสามารถแปรเปลี่ยนสถานะจากผู้รับ (มือล่าง) เป็นผู้ให้ (มือบน) ในที่สุด

เมื่อสังคมสามารถจัดตั้งกองทุนซะกาตด้วยจำนวนที่มากเพียงพอ กระจายอยู่ในพื้นที่ชุมชนมุสลิมทั่วประเทศ และจัดวางระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพดังที่กล่าวข้างต้นได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปของการกอบกู้ภาพลักษณ์ของสังคมมุสลิมก็คือ องค์กรบริหารกิจการศาสนาอิสลามจะต้องป่าวประกาศไปถึงมัสยิดทุกแห่งทั่วประเทศ เรียกร้องเชิญชวนมุสลิมทุกคนงดให้เงินบริจาคแก่ผู้มาขอเรี่ยไรตามบ้าน ชุมชนหรือที่มัสยิด รวมทั้งรณรงค์ให้สังคมงดให้การบริจาคเป็นการส่วนตัวแม้จะเต็มใจให้กันก็ตาม เพราะถือเป็นการดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยกัน การให้ที่ถูกต้องจะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบโดยองค์กรที่มีสำนึกว่าต้องทำหน้าที่ทั้งการช่วยเหลือและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้ยากไร้ และแจ้งแก่บุคคลเหล่านั้นให้ไปลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนซะกาตฯ ในชุมชน เมื่อพวกเขาเข้าสู่กระบวนการบริหารและพัฒนาตามระบบของกองทุนฯ คนยากจนก็จะหมดไปจากสังคม หรืออย่างน้อยที่สุดภาพของคนขอทานที่เดินเรี่ยไรตามบ้าน ชุมชน มัสยิดก็จะหมดไป คำประกาศนี้อาจยกเว้นกรณีการเรี่ยไรเงินเพื่อก่อสร้างมัสยิดโรงเรียน กุโบร์ กองทุนครูสอนศาสนาที่ดำเนินงานกันโดยเปิดเผยตรวจสอบได้ และเป็นวิถีชุมชนที่ทำกันเป็นปกติสามัญ 

อย่างไรก็ตาม หากกองทุนซะกาตที่จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ สามารถระดมเงินเข้ากองทุนได้เป็นจำนวนมาก เกิดเป็นกองทุนการเงินขนาดใหญ่ กิจกรรมการเรี่ยไรเงินเหล่านี้จะน้อยลง และสังคมจะเน้นไปให้ความสำคัญกับการระดมเงินโดยผ่านกองทุนซะกาตแทน


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 218
เดือนกุมภาพันธ์ 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th  

ความคิดเห็น