ชุมชนสุขภาวะดี มีฮูกมปากัต

โครงการชุมชนสุขภาวะดี ตามวิถีอิสลาม มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง โดยมีกลไก “สภาชูรอ” เป็นองค์กรกลางที่ขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาสุขภาวะในชุมชน เนื่องจากสภาชูรอไม่ได้เป็นองค์กรที่เป็นทางการและไม่มีกฎหมายรับรอง แต่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในชุมชน โดยเฉพาะ 4 เสาหลัก ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา กลุ่มองค์กรต่าง ๆ เช่น อบต. กลุ่มอาชีพ อสม. ปราชญ์ชุมชน เป็นต้น และผู้นำธรรมชาติซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในชุมชน 

การรวมตัวของผู้นำทุกกลุ่มองค์กรในชุมชน ทำให้ทุกปัญหาในชุมชนถูกนำมาวิเคราะห์และแก้ไขในสภาชูรอ เมื่อเห็นปัญหาก็ต้องแก้ไข “ฮูกมปากัต” เป็นระบบการจัดการสุขภาวะที่สอดคล้องกับวิถีอิสลาม  เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ชุมชนมุสลิมหลาย ๆ ชุมชนโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นำมาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในชุมชน คำว่า“ฮูกม” มาจากภาษาอาหรับ แปลว่ากฎระเบียบ "ฮูกมปากัต" หมายถึง  มาตรกรทางสังคม กฎสังคมหรือกฎกติกาชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสุขภาวะชุมชน โดยคณะกรรมการสภาชูรอมีข้อตกลงร่วมกันในการออกกฎกติกาที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนมีความพึงพอใจ ยอมรับและยินดีปฏิบัติตามมาประกาศใช้เป็นกฎของชุมชน การกำหนดกฎกติกาจึงต้องเหมาะสมกับทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนและไม่ขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม 

การดำเนินโครงการชุมชนสุขภาวะดี ตามวิถีอิสลาม ได้ดำเนินงานใน 4 พื้นที่ พื้นที่หลักที่ดำเนินโครงการมี 3 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนดารุ้ลฮ่าซ่านัย คลอง 11 แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร  ชุมชนบ้านพลีใต้ หมู่ 3 ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และชุมชนโตนสะตอ บ้านเขาจันทร์ หมู่ที่ 6 ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ในภายหลังได้ดำเนินโครงการเพิ่มอีก 1 ชุมชน คือชุมชนบ้านสาคร หมู่ที่ 2 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล โดยจัดกิจกรรมคู่ขนานกับ 3 พื้นที่ข้างต้น แต่ละชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ มีการออกฮูกมปากัตหรือกฎชุมชนเป็นกติกามาใช้ในชุมชน กฎที่ใช้มีความแตกต่างกันไปตามบริบทของชุมชน 

ชุมชนดารุ้ลฮ่าซ่านัย คลอง 11 กรุงเทพมหานคร มีการออกกฎระเบียบ ดังนี้ ด้านศาสนา ให้สัปปุรุษทุกท่าน ตลอดจนบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรมของทางมัสยิดและการเรียนการสอนในวันหยุดสุดสัปดาห์  ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้สัปปุรุษดูแลรักษาความสะอาดในทุกพื้นที่ของชุมชน ไม่ทิ้งขยะและสิ่งสกปรกตลอดสองข้างทาง เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนน่าอยู่, ด้านเยาวชน ให้เยาวชนที่มีอายุ 20-25 ปี เข้าร่วมกิจกรรมทางมัสยิด เพื่อรักษาวิชาศาสนาที่จำเป็นต้องใช้, ด้านกิจกรรมสตรี ให้สตรีมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของทางมัสยิด เพื่อแสดงความเป็นปึกแผ่นและสร้างความสามัคคีระหว่างพี่น้องมุสลิมะห์ในชุมชน อีกทั้งยังรักษาไว้ซึ่งประเพณีที่เคยปฏิบัติมาของคนในอดีต

ชุมชนบ้านพลีใต้ จังหวัดสงขลา ออกฮูกมปากัตชุมชน ดังนี้ ด้านสังคม ห้ามมีการเสพ ซื้อ ขาย จำหน่าย จ่าย แจก ยาเสพติดทุกชนิดในชุมชน,  ห้ามผู้ชายและผู้หญิง อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาโดยที่ยังไม่ได้ผ่านการนิกะห์ (แต่งงาน), ด้านศาสนาและจิตวิญญาณ ให้ผู้ปกครองทุนคนต้องส่งลูกหลานที่มีอายุครบ 7 ปีขึ้นไป เข้าเรียนฟัรฎูอีน / กีรออาตี, ผู้ที่บรรลุนิติภาวะจะต้องมาละหมาดญุมอัตทุกวันศุกร์และให้ผู้ที่เข้ารับอิสลามใหม่ทุกคน จะต้องผ่านการอบรม และเรียนรู้ศาสนาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  ตามระเบียบของมัสยิดบ้านพลีใต้

ร่างฮูกมปากัตของชุมชนโตนสะตอ (เขาจันทร์) จังหวัดพัทลุง ครอบคลุม 5 ด้านดังนี้ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ห้ามเปิดร้านขายเครื่องดื่มมึนเมาหรือยาเสพติดให้โทษทุกชนิด ห้ามทิ้งขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำ, ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนโตนสะตอ ดูแลรับผิดชอบการพัฒนาบริเวณน้ำตกโตนสะตอ และจัดหารายได้โดยการเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถ เข้ากองทุนท่องเที่ยวชุมชน เพื่อนำมาใช้ในการดูแลความสะอาดเรียบร้อยของสถานที่ท่องเที่ยว, ด้านสุขภาพ ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขและ อสม. ปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อต่าง ๆ ในชุมชน และเข้ารับการตรวจสุขภาพตามกำหนด, ด้านศาสนาและจิตวิญญาณ สัปปุรุษมัสยิดอัลมุกนี ต้องมาละหมาดญุมอะฮ์วันศุกร์เป็นประจำ ห้ามขาดเกิน 3 ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุจำเป็น,  ด้านการศึกษา ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษาศาสนาภาคบังคับ (ฟัรฎูอีน) ในชุมชน ส่งลูกหลานที่ถึงเกณฑ์มาเรียนฟัรฎูอีนทุกคน

ชุมชนบ้านสาคร ซึ่งเป็นชุมชนท่องเที่ยว ชุมชนมีการออกกฎระเบียบ ที่ครอบคลุมทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และด้านศาสนาและจิตวิญญาณ ดังนี้ ห้ามนำสุราและสิ่งมึนเมาเข้ามาในชุมชน, ห้ามร้องรำทำเพลงในชุมชน, และห้ามการทำผิดประเวณี (ซีนา) ในชุมชน ตลอดจนการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนให้สวยงามและเกิดความยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งมาตรการนี้บังคับใช้ทั้งสมาชิกในชุมชนและนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อรักษาวิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมให้อยู่ในแนวทางของศาสนาอิสลาม

ส่วนบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามฮูกมปากัตของชุมชน มาตรการที่นำมาใช้เริ่มต้นด้วยการตักเตือนห้ามปราม และหากยังเพิกเฉยจะพิจารณาไม่ให้สมาชิกในชุมชนคบค้าสมาคม และหากทำผิดเกิน 3 ครั้ง จะตัดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของชุมชน หรือแจ้งความดำเนินคดีในกรณีที่เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ละชุมชนกำหนดบทลงโทษที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวิถีการดำเนินชีวิตตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของชุมชนนั้น ๆ 


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 219
เดือนมีนาคม 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th 

ความคิดเห็น