ข่าวดีของคอกาแฟ

กาแฟถือเป็นเครื่องดื่มที่ทราบกันดีว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากเลือกดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ยิ่งใส่นมสดผสมลงไปด้วย กาแฟก็จะสามารถเพิ่มพลังให้ภูมิคุ้มกันของคนเราต้านการอักเสบในร่างกายได้มากขึ้น

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ได้ศึกษาปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มโพลีฟีนอล* (Polyphenols) ซึ่งมีอยู่มากในกาแฟ กับกรดอะมิโนหรือโปรตีนชนิดต่าง ๆ ในอาหารที่เรากินเข้าไป

ผลทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า เมื่อสารทั้งสองชนิดทำปฏิกิริยากัน สารผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจะออกฤทธิ์เสริมให้เม็ดเลือดขาวยับยั้งการอักเสบในร่างกายได้ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อเทียบกับตอนที่ใช้สารโพลีฟีนอลเพียงอย่างเดียว

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร “เคมีในการเกษตรและอาหาร” (Journal of Agricultural and Food Chemistry) ระบุว่ามีการทดลองให้เซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่ในภาวะที่จำลองการอักเสบ แล้วให้สารโพลีฟีนอลกับเม็ดเลือดขาวจำนวนหนึ่ง ในขณะที่เม็ดเลือดขาวอีกกลุ่มได้รับทั้งสารโพลีฟีนอลในปริมาณที่เท่ากันและได้รับกรดอะมิโนด้วย

ผลปรากฏว่าเม็ดเลือดขาวกลุ่มหลังสามารถต่อสู้ยับยั้งการอักเสบได้ดีกว่าถึง 2 เท่า ซึ่งทีมผู้วิจัยบอกว่ากรดอะมิโนอาจเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยให้เม็ดเลือดขาวดูดซึมโพลีฟีนอลไปใช้ต้านการอักเสบได้ดีขึ้น

ในขั้นต่อไปทีมผู้วิจัยมีแผนจะทดสอบปฏิกิริยาเคมีดังกล่าวในสัตว์ทดลองและมนุษย์ ซึ่งถ้าสามารถยืนยันผลการทดลองได้เช่นเดิม ก็จะนำความรู้นี้ไปเป็นแนวปฏิบัติใหม่ด้านโภชนาการ โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้คนบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยโพลีฟีนอลคู่กับโปรตีนเสมอ เช่น ดื่มชาและกาแฟที่ใส่นม หรือรับประทานเนื้อสัตว์คู่กับผักผลไม้ที่มีโพลีฟีนอลสูง

กาแฟใส่นม

การอักเสบ (inflammation) ในร่างกายมนุษย์นั้น มีสาเหตุจากภาวะเครียดเพราะปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidative stress) ซึ่งก็คือการที่อนุมูลอิสระเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ภายในเซลล์จนเสียหาย ขณะที่เกิดการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย หรือมีการใช้งานกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหนักเกินไปจนอ่อนล้าบาดเจ็บ

การอักเสบ

*โพลีฟีนอล (Polyphenols) เป็นสารพฤกษเคมีกลุ่มใหญ่ที่พบได้ในพืชผักผลไม้ทั่วไป มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและลดภาวะการอักเสบ รวมทั้งช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรัง (NCDs) ต่าง ๆ ได้ และมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยป้องกันความเสียหายต่ออวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งชะลอวัยโดยยับยั้งความเสื่อมถอยของร่างกาย พบได้มากในผักผลไม้หลายชนิด รวมทั้งชา กาแฟ รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมัก

การรับประทานอาหารที่มีโพลีฟีนอลในปริมาณมาก เช่น ผักผลไม้ที่มีใยอาหารสูง และถั่วที่มีสารเลคติน (Lectin) สูง อาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด และอาหารไม่ย่อยได้ จึงควรเริ่มจากรับประทานทีละน้อยแล้วค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้ว

สำหรับผู้ที่กังวลว่าจะได้รับโพลีฟีนอลจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอและต้องการรับประทานเป็นอาหารเสริม ควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ


ข้อมูล
https://www.bbc.com/thai/articles/c0dlz2lyrlmo
https://www.brandsworld.co.th/th/brands-health-club/nutrition-for-health-polyphenol-boost-exercise.html
https://www.pobpad.com /รู้จักกับโพลีฟีนอล-สารต


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 219
เดือนมีนาคม 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th 

ความคิดเห็น