การให้อภัย

เมื่อเราโกรธ และเมื่อเราเกลียด เรามักขาดการไตร่ตรอง 

เราลืมไปว่า ความโกรธ และความเกลียด ทำลายความคิดสร้างสรรค์ และมักตามมาด้วยการผูกใจเจ็บ ความโกรธ ความเกลียดจึงเหมือนเชื้อโรค ที่หลุดเข้ามาแล้วลุกลามจนรักษาให้หายได้ยากยิ่ง 

รอมฎอนปีนี้จึงเป็นโอกาสดี ที่เราจะได้ใคร่ครวญ การกระทำที่ผ่านมา อย่างถ่องแท้ ว่าการกระทำทั้งหลายนั้นได้ทำร้ายน้ำใจญาติสนิทมิตรสหายไปมากน้อยเพียงใด? 

และถ้าเรายังคงความโกรธ และความเกลียด เช่นนี้ไว้ แน่นอน การงานในเดือนอันประเสริฐนี้ ย่อมสูญเปล่า 

การให้อภัยจึงเป็นสิ่งล้ำค่า เพราะการให้อภัยต่อกันเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ในเดือนรอมฎอน

การรู้จักให้อภัยจะช่วยให้เราเอาชนะความรู้สึกโกรธ ความขมขื่น หรือความผูกพยาบาทได้ เพราะการให้อภัยสามารถเยียวยาบาดแผลทางจิตใจและก่อเกิดสันติสุขขึ้นได้ การให้อภัยจึงช่วยให้สามารถยุติปัญหาต่างๆ ลง การให้อภัยคือการแสดงกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด 

ท่านศาสนทูต (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “ไม่มีการศรัทธาใดในหมู่พวกท่าน จนกว่าพวกท่านจะรักพี่น้องเหมือนกับรักตัวเอง” (อัลบุคอรีย์และมุสลิม)

“ผู้ที่แข็งแกร่งนั้น ไม่ใช่ผู้ที่สามารถล้มคู่ต่อสู้ได้ แต่ผู้ที่แข็งแกร่งคือผู้ที่สามารถควบคุมตัวเองได้ในยามโกรธ” (อัลบุคอรีย์และมุสลิม) 

พระผู้อภิบาลได้ตรัสไว้ว่า

“บรรดาผู้ยำเกรง คือ บรรดาผู้ข่มโทสะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย” อัลกุรอาน บท อาลิอิมรอน : 134

“ผู้มีเกียรติและผู้มั่งคั่งในหมู่พวกเจ้าอย่าได้สาบานที่จะไม่ให้ (ความช่วยเหลือ) แก่ญาติมิตร และคนจน และผู้อพยพในหนทางของอัลลอฮฺ และพวกเขาจงอภัยและยกโทษ (ให้แก่พวกเขาเถิด) พวกเจ้าไม่ชอบหรือที่อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” อัลกุรอาน บท อันนูร : 22



สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 220
เดือนเมษายน 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น