โรคลมแดด (Heatstroke) เป็นโรคที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว ปัจจุบันพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไปทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง
สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีทสโตรก คือไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก มึนงง สับสน รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่ว ๆ ไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคฮีทสโตรก คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับหน้าร้อนนี้
- ทานอาหารและน้ำที่สุกสะอาด อาหารไม่บูดเสียสภาพก่อนนำมาปรุง งดเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะยิ่งอากาศร้อนมาก การดูดซึมแอลกอฮอล์จะสูง ร่างกายจะสามารถซึมผ่านแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็ว ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน จนปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูงขึ้น ปัสสาวะบ่อย ขาดน้ำ และน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำได้
- หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน ปรับสภาพบ้านให้เหมาะกับฤดู เช่น เปิดหน้าต่าง ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา ฝึกสมาธิ หางานอดิเรกทำ ก็จะช่วยลดความเครียดและหงุดหงิดลงได้ หากเลี้ยงสัตว์ควรพาไปรับวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยงของตนเองและผู้อื่น
- เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่ให้เหมาะสม เช่น ผ้าฝ้ายที่ระบายความร้อนได้ดี สีอ่อน โทนเย็น ๆ ช่วยให้จิตใจสบาย
- ทา “ครีมกันแดด” ให้ทั่วถึง แม้แต่ในร่มผ้าด้วย โดยทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง ควรเลือกที่มีส่วนผสมของ Mexoryl และ Tinosorb เพราะสามารถกรองรังสียูวีเอและยูวีบีได้ดี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น