กินไข่ทำให้แผลเป็นนูนขึ้นจริงหรือ?

ความเชื่อเก่าแก่ที่ว่าเป็นแผลแล้วห้ามกินไข่ เพราะจะทำให้แผลนูนไม่สวยหรือความเชื่อที่ว่ากินไข่แล้วแผลจะเป็นหนองนั้นเป็นความจริงหรือไม่ เรามาดูกัน

แผลเป็น เป็นแผลที่เกิดขึ้นหลังจากมีการฉีกขาดของผิวหนัง ซึ่งจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ลักษณะนูนหรือแบนราบ สีแตกต่างจากสีผิวหรือกลมกลืนกัน ขึ้นอยู่กับขนาด ความลึกของแผลและขั้นตอนกระบวนการในการดูแลรักษาแผลชนิดของแผลเป็น

รอยแผลเป็นมีมากมายหลายชนิด แต่ที่เป็นปัญหาหลัก ๆ จะมีอยู่ 3 ชนิด คือ

  1. แผลเป็นนูน (Hypertrophic Scar) คือ แผลเป็นที่มีสีแดงและนูนขึ้นมาจากผิวหนังปกติ แต่ยังอยู่ในขอบเขตของรอยแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บ หรือฉีกขาดของแผลเดิม แผลเป็นชนิดนี้เกิดจากการสร้างคอลลาเจนมากเกินไป และมักไม่ขยายกว้างขึ้นเกิดจากรอยโรคเดิม
  2. แผลเป็นนูนชนิดคีลอยด์ (Keloid) คือ เป็นแผลที่มีอาการนูน และแดงคล้ายกับรอยแผลเป็นนูนหนา แต่มีความผิดปกติทำให้เกิดการขยายตัวกว้างขึ้นสู่เนื้อเยื่อรอบ ๆ จนเกินขอบรอยแผลตอนแรกเริ่ม อีกทั้งพันธุกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์เช่นกัน
  3. แผลเป็นหลุม (Atrophic Scar) เป็นรอยแผลเป็นที่รอยลึกลงจากผิวหนัง มีสีใกล้เคียงกับสีผิวหนังปกติ มักเป็นรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว หรือโรคอีสุกอีใส

แผลเป็นสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น ผ่าตัด ใช้สเตียรอยด์แบบฉีด ซึ่งวิธีเหล่านี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ สำหรับวิธีที่สามารถดูแลแผลเป็นด้วยตัวเอง ทำได้ด้วยการใช้แผ่นแปะลดรอยแผลเป็นได้แก่ แผ่นซิลิโคน (Silicone) ใช้หลังเกิดแผลสดหายดีแล้ว โดยปิดแผลเป็นตลอด 24 ชั่วโมงนาน 3 เดือน  แผ่นเทปเหนียว (Microporous) ใช้ปิดลงบนแผลเป็น โดยอุปกรณ์ทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ สามารถซื้อและขอรับคำปรึกษาในการใช้แผ่นแปะลดรอยแผลเป็นจากเภสัชกรได้ตามร้ายขายยาทั่วไป 

แนะนำให้เลือกซื้อแผ่นแปะที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ดูเลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะการดูแลแผลอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการขยายตัวและการนูนตัวของแผลเป็นได้ และสามารถลดการขยายตัว และการนูนของแผลเป็นโดยการนวดบริเวณแผลเป็นเป็นประจำในระหว่าง 6 เดือนแรก

กรณีเรื่องกินไข่แล้วแผลจะนูนที่หลายคนเคยได้ยินมาบ่อย ๆ ว่า หลังผ่าตัด เป็นแผล ห้าม!! กินไข่นะ จะทำให้แผลนูนไม่สวย-หายช้า ความเชื่อนี้มีมานับได้ 50 กว่าปีแล้ว 

การดูแลร่างกายหลังเกิดแผล ทั้งแผลเล็กและใหญ่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันก็คือเรื่องการทำความสะอาดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการดูแลร่างกายด้วยอาหารที่เป็นประโยชน์ ซึ่งไข่ก็คือหนึ่งในอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมีโปรตีนช่วยเข้าไปเสริมสร้างเนื้อเยื่อทำให้บาดแผลหายได้เร็ว  

จึงสรุปได้ว่าความเชื่อดังกล่าวนี้ "ไม่เป็นความจริงเลย" เพราะในไข่นั้น มีโปรตีนช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอช่วยให้แผลหายเร็วดังที่ได้กล่าวมาแล้ว


ข้อมูล
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3858974
https://www.chularat3.com/knowledge_detail.php?lang=th&id=639
https://ladpraohospital.com/th/content/4033/
https://www.doctor.or.th/article/detail/6872


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 220
เดือนเมษายน 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th 

ความคิดเห็น