กระดูกเป็นอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อกระดูกมีการสลายตัวจะทำให้เกิดสภาวะกระดูกพรุนและอาจเกิดกระดูกหักตามมาได้ เซลล์ในเนื้อกระดูกมี 2 ชนิด ชนิดแรกคือ เซลล์ออสติโอบลาสต์ (osteoblast) ทำหน้าที่สร้างกระดูก อีกชนิดหนึ่งคือ เซลล์ออสติโอคลาสต์ (osteoblast) ทำหน้าที่สลายกระดูก ปกติแล้วเซลล์ทั้งสองชนิดจะทำงานในสภาวะที่ทำให้เกิดความสมดุลกัน คือถ้ากระดูกถูกสลายมากเท่าใดก็จะมีการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้นในปริมาณเท่ากัน โดยเฉพาะในวัยเจริญเติบโตหรือในวัยเด็ก จะมีการสร้างกระดูกเร็ว แต่มีทิศทางของการสร้างและการสลายตัวของกระดูกอย่างสอดคล้องกันอยู่ตลอดเวลา
กระดูกประกอบด้วยเกลือแร่ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัสประมาณร้อยละ 65 คอลลาเจน (collagen) ร้อยละ 23 โปรตีนที่ไม่ใช่คอลลาเจนร้อยละ 2 และน้ำร้อยละ 10 เมื่อมีการสร้างและการสลายกระดูกจะมีคอลลาเจนและโปรตีนที่ไม่ใช่คอลลาเจนเกิดขึ้น และออกมาในเลือดและปัสสาวะ
มีวิธีการตรวจกระดูกอยู่ 3 วิธี เพื่อใช้ในการรักษาและป้องกันภาวะกระดูกพรุน วิธีแรกคือการถ่ายภาพรังสี เพื่อดูรูปร่างและความผิดปกติของกระดูก วิธีที่สองคือการตรวจมวลกระดูก โดยการตรวจเนื้อกระดูกต่อพื้นที่ตารางผิว เพื่อดูปริมาณของเนื้อกระดูกอย่างคร่าว ๆ วิธีที่สามคือการตรวจการทำงานของกระดูกด้วยขบวนการทางเคมี ดูองค์ประกอบเนื้อกระดูกที่ถูกขับหรือหลุดออกมาจากเนื้อกระดูกเข้ามาในกระแสเลือดและปัสสาวะ เพื่อดูการทำงานของเซลล์กระดูก
วิธีการตรวจการทำงานของกระดูกด้วยขบวนการทางเคมี จะช่วยในเรื่องการตัดสินใจให้การรักษาแต่ไม่ได้ช่วยในการวินิจฉัยโรคกระดูก โดยการตรวจหาองค์ประกอบของกระดูกที่หลุดหรือถูกขับออกมาจากกระดูกที่เรียกว่า โบน มาร์คเกอร์ (Bone markers) ด้วยการเจาะเลือดหลังอดอาหารอย่างถูกต้องในช่วงเวลา 8.00 น. - 9.00 น. โดยไม่ทิ้งเลือดไว้ในห้องนานเกิน 30 นาทีก่อนนำไปตรวจ เพื่อควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคตับที่อาจทำให้การแปลผลผิด ซึ่งค่าที่ยอมรับได้คือค่าปกติเท่านั้น ส่วนค่าผิดปกติอาจแสดงว่า กำลังมีการทำลายกระดูกมากจนออสติโอบลาสต์สร้างชดเชยไม่ทันก็ได้
ประชากรกลุ่มที่ควรได้รับการตรวจองค์ประกอบของกระดูกที่หลุดหรือถูกขับออกจากกระดูก ได้แก่กลุ่มหญิงวัยหมดประจำเดือนในช่วง 6 ปีแรก กลุ่มที่ได้รับการวินิจฉัยหรือสงสัยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูก เช่น เป็นโรคกระดูกพรุน ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป คนที่มีความผิดปกติทั้งกายภาพและการทำงานของข้อและกระดูก ซึ่งแพทย์อาจจะพิจารณาผ่าตัดแก้ไขให้โดยใช้ข้อเทียมหรือใส่เหล็กดามหลัง คนที่ได้รับยาทางกระดูก และคนที่มีประวัติกระดูกหักง่าย โดยคนเหล่านี้เมื่อได้รับการตรวจครั้งแรกแล้ว จะต้องทำการตรวจซ้ำอีกตามแนวทางการป้องกันและรักษาของแต่ละโรค เช่นตรวจทุก 3 เดือน 6 เดือน 1 ปีในคนที่ได้รับยาทางกระดูก ตรวจปีละ 1 ครั้งในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนและหญิงที่หมดประจำเดือนแล้วไม่เกิน 6 ปี ตรวจ 3 เดือนและตรวจติดตามทุก 6 เดือนในคนหลังผ่าตัดใส่ข้อเทียมหรือใส่เหล็กดามกระดูกจนแน่ใจว่าเหล็กที่ใส่ไว้ไม่หลวมหรือแน่นแล้ว
กระดูกเป็นอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของกระดูกมากหรือน้อยกว่าปกติ ย่อมจะส่งผลต่อการสลายตัวของกระดูก จนนำไปสู่สภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหักได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น