หน้าที่หลักคือ กรองน้ำและของเสียที่ไม่มีประโยชน์ เช่น สารพิษและยาส่วนเกิน ออกจากร่างกายโดยขับออกมาในรูปปัสสาวะ ดูดซึม กักเก็บสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกายตลอดจนควบคุมความเป็นกรด-ด่างในเลือด ควบคุมความดันโลหิต และยังทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกาย
ปัจจุบันมีการนำเสนอหลากหลายว่าสมุนไพรหลายชนิดสามารถรักษาโรคไตได้ แต่ข้อมูลในปัจจุบัน ยังไม่มีสมุนไพรตัวใดที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้
ทั้งนี้สมุนไพรที่มักจะถูกนำมากล่าวอ้างว่ามีคุณสมบัติสามารถรักษาโรคไต ได้แก่
เห็ดหลินจือ เป็นสมุนไพรจีนที่ดังมากในแง่ของการมีคุณสมบัติบำรุงไต ขณะที่ข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนยังมีค่อนข้างน้อย และมีข้อมูลพบว่าผู้ป่วยบางรายที่รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ทำมาจากเห็ดหลินจือบ่อย ๆ อาจพบอาการของโรคตับและไตวายมากขึ้นได้ อีกทั้งเห็ดหลินจือยังมีราคาแพง
มะม่วงหาว มะนาวโห่ สมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีความเชื่อว่าเป็นยาต้านอนุมูลอิสระ สรรพคุณจะช่วยป้องกันเซลล์มะเร็ง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต อาจมีผลทำให้ไตขับสารโพแทสเซียมออกมาไม่ทัน ส่งผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจเสียชีวิตได้
ถั่งเช่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย
หญ้าหนวดแมว หรือ พยับเมฆ (kidney tea) เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน นิยมใช้ เป็นยาชงแทนใบชาเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อการรักษานิ่วในไต แต่ในใบของหญ้าหนวดแมวพบว่า มีโปแตสเซียมสูง และมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะมากกว่าปกติ จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไตหรือหัวใจ เนื่องจากทำให้การทำงานของไตลดลงเฉียบพลัน และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ไคร้เครือ เป็นยาสมุนไพรจีนที่ใช้กันมากในตำรับยา แก้อักเสบ คลายกล้ามเนื้อ ลดน้ำหนัก มี ส่วนผสมของสาร aristolochic acid ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์และทำให้เกิดภาวะไตวายได้ด้วย
แปะก๊วย มีสาร Ginkgo biloba จากการทดลองพบว่าสามารถลดการเกิดพังผืดที่ไตในหนูที่เป็นโรคเบาหวาน แต่ในคนยังไม่มีการศึกษาแน่ชัด นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่า สารสกัดใบแปะก๊วย โสม กระเทียม ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เกิดเลือดออกบริเวณเส้นเลือดที่ต่อกับเครื่องฟอกเลือดได้ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน
แครนเบอรี่ ส่วนใหญ่มักทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รับประทานมากทำให้เกิดนิ่ว และผลการทำงานของไตผิดปกติ
สมุนไพรกลุ่มใบชา ปอกะบิด หรือกาแฟบางชนิด ที่นำมาแปรรูปในโฆษณาในเรื่องลดน้ำหนัก จะส่งผลต่อค่าของตับและไตจะสูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องระวังการปนเปื้อนสารอันตรายจากกระบวนการผลิตด้วย ซึ่งจากการสุ่มตรวจพบปนเปื้อนสเตียรอยด์ถึง 30% และยังพบสารหนู แคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะที่มีผลต่อโรคไต
น้ำลูกยอ อันตรายเพราะอาจทำให้มีโพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นอันตรายต่อไต
การใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อรักษาโรคไตตามที่มีการแชร์หรือโฆษณานั้น ไม่มีข้อมูลรองรับที่เพียงพอ และอาจทำให้เกิดผลเสียได้ในผู้ป่วยโรคไต จึงควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าหากจะนำมาใช้จริงจะต้องวิเคราะห์ข้อมูล ตามหลักการของแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน โดยเฉพาะการวิจัย ที่ทำให้แน่ใจถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น