ความคิดเห็นต่อประเด็นความไม่เท่าเทียมในสังคม ภาคใต้ตอนกลางและตอนบน

ดร.สันต์ชัย ยุติกา

ความไม่เท่าเทียม” เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงปัญหาในสังคมไทย เนื่องจากเป็นสาเหตุ หรือต้นตอของปัญหาในหลากหลายมิติ เป็นการผลิตซ้ำที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยร่วมกันโดยเฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยมีกลุ่มคนเปราะบาง คนชายขอบ เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ร่ำไป มีนักวิชาการบางส่วนกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมในอีกมิติที่น่าสนใจ คือ ความไม่เท่าเทียมแนวตั้งหรือแนวดิ่ง (Vertical inequality) และความไม่เท่าเทียมแนวราบ (Horizontal inequality) (Sarntisart, 2020; Stewart and Brown, 2007) กล่าวคือ ความไม่เท่าเทียมแนวตั้งหรือแนวดิ่ง คือ การวัดความไม่เท่าเทียมรายบุคคลหรือรายครัวเรือน และมักเป็นความไม่เท่าเทียมที่จํากัดวงอยู่ที่เรื่องรายได้ หรือการบริโภคเท่านั้น ในขณะที่ความไม่เท่าเทียมแนวราบ คือ ความไม่เท่าเทียมในมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือสถานะทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ซึ่งมีอัตลักษณ์ร่วมกัน รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันในเชิงพื้นที่ระดับภูมิภาค ที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ

การศึกษาวิเคราะห์ปัญหาความไม่เท่าเทียม ในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางและตอนบน ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล พัทลุง ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สุราษฐานี ระนอง และชุมพร โดยแยกวิเคราะห์ตามกลุ่มย่อยทางศาสนาและวัฒนธรรม ภายในกลุ่ม (Within Subgroups) ซึ่งหมายถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างมุสลิมด้วยกัน และระหว่างกลุ่ม (Between Subgroups) ซึ่งหมายถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างมุสลิมกับพุธ โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงบางส่วนจากภาพรวมของประเด็นความไม่เท่าเทียมที่น่าสนใจ โดยจากข้อมูลที่ได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวม ได้แก่ข้อมูลจากการเก็บแบบสอบถาม และการสัมภาษณ์เชิงลึก 

ภาพรวมผลการศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อความไม่เท่าเทียมในสังคมในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางและตอนบน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งพุธและมุสลิมมีความเห็นต่อประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมในพื้นที่ในระดับสูงสุดสามลำดับแรกใกล้เคียงกัน คือ ประเด็นความไม่เท่าเทียมต่อโอกาสในการทำงานถูกมองว่ามีมากที่สุดในพื้นที่ รองลงมาคือความไม่เท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมาย และความไม่เท่าเทียมในโอกาสทางการศึกษาตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึกในพื้นที่ พบว่า เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุหรือต้นทางของความไม่เท่าเทียมกันในพื้นที่ ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เห็นว่า ปัจจัยทางศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงปัจจัยเชิงพื้นที่ ส่งผลน้อยต่อความไม่เท่าเทียมในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางและตอนบน ทั้งนี้ส่วนใหญ่มองว่า ปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจ เช่น สถานภาพครอบครัว อาชีพการงาน ตำแหน่ง ชื่อเสียง มีผลอย่างมากต่อปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคม

ทั้งนี้ ผลการศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่น่าสนใจอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางและตอนบน ซึ่งผู้เขียนจะขอนำมาเล่าในวารสารฉบับต่อๆ ไป


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 221
เดือนพฤษภาคม 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th 

ความคิดเห็น