เชื่อว่าหลายท่านอาจจำผิดจำถูกระหว่างใบชะพลูกับพลู ว่าลักษณะรูปร่างเป็นอย่างไร เวลาที่แม่ใช้ไปเก็บใบชะพลู แต่กลับได้ใบพลูกลับมา วันนี้สุขสาระ เลยจะเล่าให้เพื่อน ๆ ที่ยังสงสัยความเหมือนที่แตกต่างของพืช 2 ชนิดนี้
พลู เป็นไม้เลื้อย ที่ข้อมีรากสั้น ๆ ออกรอบข้อใช้เกาะติดไม้ใหญ่ มีเนื้อไม้ขนาดเล็กจึงไม่จัดเป็นไม้ยืนต้น มีข้อและปล้องชัดเจน ใบเดี่ยวติดกับลำต้น ใบเรียงตัวแบบสลับ ลักษณะของใบแหลมคล้ายใบโพ ผิวใบมัน ดอกออกรวมกันเป็นช่อแน่น ปลูกโดยใช้ลำต้นปักชำ ขึ้นง่าย เป็นพืชพื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พลู มีหลายชนิด คือ พลูจีน พลูเหลือง พลูเขียว และพลูทองหลาง สำหรับประเทศไทยมีแหล่งปลูกพลูที่ปลูกมากในแถบจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักปลูกเพื่อการบริโภคในท้องถิ่น และปลูกเพื่อการค้า และส่งออกไปยังอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
ใบพลู มีรสเผ็ดร้อน นิยมนำมาทากับปูนแดงเคี้ยวร่วมกับหมาก โดยเฉพาะในคนรุ่นก่อน ๆ เพราะมีกลิ่นฉุน เผ็ดร้อน ดับกลิ่นปากได้ ปัจจุบันความนิยมกินหมากและพลูลดน้อยลงไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงมีพื้นที่ปลูกพลูอยู่
รายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่าการเคี้ยวหมากและพลู อาจมีส่วนในการเพิ่มอัตราในการพบผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่องปากในเอเชียตะวันออก และสัดส่วนของผู้ป่วยในวัยสูงอายุมากกว่าวัยอื่น ๆ อีกด้วย
คุณค่าทางสารอาหารของพลู ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ชาวิคอล, ยูจินอล, เบตาซิโตสเตอรอล และซินีออล เป็นต้น
นอกจากนี้ยังใช้เป็นสมุนไพรแก้ลมพิษ รักษาอาการคัน ในใบพลูมีสารยูจีนอลและชาวิคอล มีฤทธิ์เป็นยาชาและช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด จึงมีประโยชน์ในการระงับอาการคันและเจ็บปวดเนื่องจากแมลงกัดต่อย ช่วยฆ่าและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรคและเชื้อหนอง และมีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังและกลาก และพบว่าน้ำมันพลูสามารถฆ่าพยาธิไส้เดือนได้ สารเบตาสเตอรอล มีฤทธิ์แก้แพ้ แก้อักเสบ นอกจากนี้ พลูยังมีสรรพคุณใช้แก้การอักเสบของเยื่อจมูกและคอ แก้กลาก แก้ฮ่องกงฟุต แก้คัน แก้ลมพิษ ลนไฟนาบท้องเด็ก แก้ปวดท้องและแก้ลูกอัณฑะยาน เป็นต้น
ชะพลู หรือ ช้าพลู มักสับสนกับพลู แต่ใบรสไม่จัดเท่าพลูและมีขนาดเล็กกว่า ชะพลูเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบพื้นที่ลุ่ม มีความชื้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ โดยการเลือกกิ่งที่มีใบอ่อนและใบแก่ เด็ดใบแก่ออกและนำไปปักชำได้
ชะพลูมีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีกคือ ทางภาคเหนือเรียกว่า "ผักปูนา", "ผักพลูนก", "พลูลิง", "ปูลิง", "ปูลิงนก" ทางภาคกลาง เรียกว่า "ช้าพลู" ทางภาคอีสานเรียกว่า "ผักแค", "ผักปูลิง", "ผักนางเลิด", "ผักอีเลิด" และ ทางภาคใต้เรียกว่า "นมวา"
ใบมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจรูปทรงคล้ายกับใบพลู แต่มีขนาดใบเล็กกว่า มีสีเขียวเข้มเป็นใบเดี่ยว รสชาติเผ็ดอ่อน ๆ ดอกออกบริเวณปลายยอด มีสีขาวอัดแน่นกันเป็นทรงกระบอกขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายดีปลีแต่สั้นกว่าชะพลูพบในเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และตอนใต้ของจีน และไกลถึงหมู่เกาะอันดามัน
ใบชะพลูมีสารบีตา-แคโรทีนสูงมาก ใบนำมารับประทานกับเมี่ยงคำ นำมาแกงใส่กะทิ ข้าวยำ ห่อหมก หรือเป็นผักจิ้มน้ำพริก ทางภาคใต้ใส่ในแกงกะทิหอยขม แกงคั่วปู ในจังหวัดจันทบุรีใส่ในแกงป่าปลา ในใบมีออกซาเลตสูง จึงไม่ควรรับประทานมากเป็นประจำ
ชะพลูเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยา ดอกทำให้เสมหะแห้ง ช่วยขับลมในลำไส้ รากขับเสมหะให้ออกมาทางระบบขับถ่าย ขับลมในลำไส้ ทำให้เสมหะแห้ง ต้นขับเสมหะในทรวงอก ใบมีรสเผ็ดร้อน ทำให้เจริญอาหาร ขับเสมหะ ใบ ต้น และดอกใช้ขับเสมหะ รากใช้ขับลม น้ำต้มทั้งต้นช่วยลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายที่เป็นเบาหวานได้
ใบชะพลูสดไม่ควรรับประทานมากเกินไป หรือไม่ควรกินเป็นประจำก็เพราะมีผลึกแคลเซียมออกซาเลต (Oxalate) สูง จะทำให้เวียนศีรษะ และอาจทำให้เกิดนิ่วในไต หรือทางเดินปัสสาวะได้ จึงควรดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อให้สารออกซาเลตเจือจางลง และถูกขับออกทางปัสสาวะ หรือควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B9_(%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A)
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B9
https://mgronline.com/south/detail/9630000097101
https://www.sanook.com/health/10021/
เดือนมิถุนายน 2566
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น