'ไฝ' หรืออะไร?

“ไฝ (Mole, Nevus)” ถือว่าเป็นความผิดปกติของผิวหนัง เกิดจากเมลาโนไซ (เซลล์สร้างสี) รวมตัวกันสร้างเมลานินมากผิดปกติ หรือเป็นตุ่มเนื้อที่มีขนาดแตกต่างกันไปทั้งสีและรูปร่าง สามารถเกิดได้มากกว่าหนึ่งเม็ด อาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิดแต่บางคนก็มีขึ้นเมื่อตอนโตแล้ว และจะเพิ่มมากที่สุดในช่วงวัยรุ่นแต่หลังจากนั้นจะหยุดการเพิ่มจำนวน

ไฝมีหลายชนิด หลายสี โดยชนิดที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ Nevocellular nevus หรือที่เรียกว่า Pigmented Nevus ซึ่งมีหลายลักษณะด้วยกัน คือ อาจจะเป็นจุดเรียบ ๆ สีน้ำตาล หรือ เกือบดำโดยมากมีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร ถึง 1 เซนติเมตร รูปร่างกลมหรือรี หรือเป็นตุ่มนูนสีน้ำตาลหรือดำ ผิวเรียบหรือขรุขระ หรืออาจจะเป็นชนิดไม่มีสีเลยก็ได้ บางครั้งอาจมีขนงอกอยู่บนไฝด้วย ไฝประเภทต่าง ๆ ส่วนมากไม่มีอันตราย แต่ส่วนใหญ่คนมักจะนิยมเอาออกเนื่องจากเหตุผลทางด้านความสวยความงาม หรือความเชื่อทางด้านโหราศาสตร์

ส่วนไฝกับการเกิดมะเร็งผิวหนัง ให้สังเกตว่าหากมีไฝ 100 ตำแหน่งขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่าคนทั่วไปถึง 7 เท่า

ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง
  • ผู้ที่มีผิวสีอ่อนหรือมีความไวต่อแสงแดดมาก
  • มีไฝจำนวนมาก
  • มีไฝขนาดใหญ่แต่กำเนิด
  • มีไฝลักษณะผิดปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลง
  • ได้รับแสงแดดมากในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น
  • มีประวัติมะเร็งผิวหนังในครอบครัว
  • ต้องสัมผัสแสงแดดอย่างมากเป็นประจำ
  • ได้รับยากดภูมิบางชนิด
  • มีรอยโรคมะเร็งผิวหนังมาก่อน หรือมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
  • เคยเข้ารับบริการทำสีผิวแทน ด้วยเครื่องฉายแสงทำสีแทนเทียม
  • เคยเข้ารับการรักษาด้วยการฉายรังสี
  • ได้รับสารหนูสะสมอย่างต่อเนื่องยาวนาน
  • คนที่เป็นโรคหนังแข็ง
  • อยู่ในพื้นที่ที่มีสารเคมีเป็นเวลานาน
ลักษณะของไฝที่อาจกลายเป็นมะเร็ง
  • A – Asymmetry ไฝโดยทั่วไปมักมีขนาดกลม ไฝที่มีรูปร่างไม่สมมาตรมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นมะเร็ง
  • B – Border ขอบเขต โดยขอบเขตของไฝที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งมักมีขอบเขตไม่สม่ำเสมอหรือไม่ชัดเจน
  • C – Color สี โดยทั่วไปไฝหนึ่งเม็ดควรจะเป็นสีเดียวกัน หากสีของไฝไม่สม่ำเสมอหรือมีหลายสีในเม็ดเดียวควรระวัง
  • D – Diameter ขนาด หากไฝมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 6 มิลลิเมตร อาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้
  • E – Evolving การเปลี่ยนแปลง หากไฝมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนหรือเร็วเกินไป เช่น สี ขนาด รูปร่าง โตเร็วผิดปกติ ตกสะเก็ด หรือมีเลือดออก ควรระวังและปรึกษาแพทย์
หากสงสัยภาวะมะเร็งผิวหนัง ควรทำการฝานหรือตัดเพื่อส่งตรวจชิ้นเนื้อ ไม่ควรทำเลเซอร์ แต่ถ้าหากได้รับการตรวจว่าไฝนั้นไม่มีลักษณะที่เข้าข่ายสงสัยมะเร็งผิวหนังก็สามารถเอาออกด้วยการทำเลเซอร์ได้

การป้องกันมะเร็งผิวหนัง
  • ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น.
  • ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 15 ขึ้นไปเป็นประจำ
  • หากจำเป็นต้องออกแดดควรใส่เสื้อผ้าป้องกัน
  • หลีกเลี่ยงการอาบแดดหรือการใช้เครื่องอบผิวให้เป็นสีแทน
  • หากมีไฝ ขี้แมลงวัน หูด หรือปาน ควรสังเกตและปรึกษาแพทย์
  • หากมีแผลเรื้อรังหรือแผลที่ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์

ข้อมูล
https://www.scimath.org/article-biology/item/6904-2017-05-14-06-47-45
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/moles-skin-cancer

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 222
เดือนมิถุนายน 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น