โรคจิตเวช -โรคแพนิค

โรคแพนิค” (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ โดยระบบประสาทนี้เป็นระบบที่ควบคุมการทำงานของร่างกายหลายส่วน จึงทำให้เกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันแม้ไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก ไม่กล้าออกไปไหน หมกมุ่นเรื่องสุขภาพ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน 

ซึ่งอาจมีสาเหตุมาทั้งจากทางร่างกาย เช่น กรรมพันธุ์ การใช้สารเสพติด หรือความผิดปกติของฮอร์โมน ส่วนทางจิตใจก็อาจมีสาเหตุมาจากการผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียสมดุลของสารเคมีในสมองได้ โดยเฉพาะในวัยเด็กที่มีโอกาสเป็นโรคแพนิคได้มากกว่า  เช่น  ถูกทอดทิ้ง  ถูกทำร้ายร่างกาย  ถูกข่มขืน  เป็นต้น

อาการ “โรคแพนิค” เป็นอย่างไร?

  • ใจสั่น แน่นหน้าอก
  • หัวใจเต้นแรง 
  • หายใจหอบ หายใจถี่
  • เหงื่อออกมาก เหงื่อแตก
  • ตัวสั่น
  • ปั่นป่วนในท้อง
  • วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม
  • หวาดกลัว รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง 
  • มือสั่น เท้าสั่น
  • ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้

อาการแบบนี้สามารถพบได้ในหลายโรค เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โรคไมแกรน โรคลมชักบางประเภท และสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการใช้สารบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการเช่นนี้ ที่พบบ่อยก็คือ คาเฟอีน 

โรคแพนิคสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ หรือ การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เพื่อการรักษาที่ได้ผลดีนั้นจะต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย ปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย รวมถึงคนรอบข้าง คนใกล้ชิด ควรทำความเข้าใจกับโรคนี้และให้กำลังใจผู้ป่วย

แม้ว่าโรคนี้จะไม่รุนแรง หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคอาจไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรง อื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน ดังนั้น หากสงสัยว่ามีอาการของโรคแพนิค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

ข้อมูล
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1159
https://www.sikarin.com/health/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84-panic-disorder

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 222
เดือนมิถุนายน 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น