โดยทั่วไปแล้วเรามักจะเชื่อกันว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพรมักจะปลอดภัยเมื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่ถ้าหากขาดความรู้ในการเลือกซื้อสินค้าแล้วนั้นแทนที่จะได้ประโยชน์ แต่อาจจะกลับกลายเป็นโทษที่ย้อนกลับมาทำร้ายร่างกายของเราในตอนหลัง เพราะฉะนั้นการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ปลอดภัย ให้ยึดหลักดังนี้
ยาสมุนไพรแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
- ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
- ยาสมุนไพรที่ประกาศเป็นยาสามัญประจำบ้าน
- ยาเฉพาะที่
- ยาต้มเฉพาะราย
ส่วนใหญ่ยาที่เราพบตามท้องตลาดจะเป็นยากลุ่มที่ 1 และ 2 เนื่องจากเป็นยาไม่ซับซ้อน สรรพคุณโดยรวมแก้อาการเบื้องต้นต่างๆ ได้ในระดับนึงเท่านั้น และสามารถมีติดบ้านได้ตามกฎหมายกำหนด ข้อสังเกตในการเลือกซื้อยาสมุนไพรตามร้านต่างๆ
- ผลิตภัณฑ์ปิดสนิท ไม่มีรอยเปิด หรือถูกใช้
- มีการซีลฝาขวด หรือปากขวดเพื่อป้องกันการเปิดใช้(อย่างใดอย่างหนึ่ง)
- มีวัน เดือน ปี ผลิต/หมดอายุ
- ฉลากยาต้องมีชื่อยา สรรพคุณ วิธีใช้ ข้อห้าม ข้อควรระวัง สถานที่ผลิต อ่านง่าย ชัดเจน ไม่เบลอ
- มีเลขทะเบียนยาถูกต้อง (สามารถนำไปตรวจสอบได้ มีที่มาที่ไป และส่วนประกอบที่ชัดเจน) หลายคนสับสนเลขทะเบียนยากับ เลข GMP โดย GMP คือมาตรฐานของโรงงาน/สถานที่ที่ใช้ในการผลิตยาเท่านั้น ซึ่งถ้ามีเลข GMP ด้วย ก็จะเป็นการยืนยันว่า ยานั้นได้มีการผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐานของการผลิตยาตามกระบวนการ/ขั้นตอนของโรงงานที่ได้รับการรับรอง
เนื่องจากยาสมุนไพรเป็นยาที่ออกฤทธิ์แบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นหากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง (เช่น มะเร็ง โรคเอดส์ บาดทะยัก ดีซ่าน) โรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ) โรคติดเชื้อต่างๆ (เช่น ปอดบวม ไข้ไทฟอยด์ มาลาเรีย วัณโรค กามโรค) เป็นโรคบางอย่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสามารถรักษาได้ด้วยสมุนไพรอย่างชัดเจน ก็ไม่ควรที่จะเลือกใช้ยาสมุนไพร นอกจากนี้ หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง ไอ เป็นเลือด ถ่ายเป็น มูกเลือด ชัก หอบ ตกเลือด ถูกงูพิษกัด เป็นต้น อาการเหล่านี้ไม่ควรใช้ยาสมุนไพร แต่ควรจะไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น