อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

ร่างกายของคนเราเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา บางคนช้า บางคนเร็ว ตามพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังก็จะบางลง หรือผิวแห้ง กล้ามเนื้อก็เล็กลงเพราะใช้งานน้อย หรือเหงือกและฟันมีปัญหา เป็นต้น

สังคม สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไป บางรายอาจจะเครียด วิตกกังวล แต่ถ้าเรามีการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เราก็สามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ มีความสุข

เมื่ออายุมากขึ้น เพื่อนที่เราไม่อยากสนิทด้วย เช่น ความดัน เบาหวาน เริ่มเข้ามา หลายคนมีโอกาสได้ใช้สมุนไพร วิตามิน หรืออาหารเสริมมากขึ้นไปด้วย และหลายคนทานยามากกว่า 1 ชนิด และต้องทานอย่างต่อเนื่อง

เมื่อทานยามากเข้า ก็จะมีปัญหาจากการใช้ยาเพิ่มขึ้น เช่น ทานยาซ้ำซ้อน ลืมทานยา ทานยาไม่ถูกขนาด ไม่ถูกกับโรค สุดท้ายก็เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา คือ อาการใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาในขณะการรักษาแล้วเกิดผลหรืออาการที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1) ผลข้างเคียงจากยา และ 2) แพ้ยา

  1. ผลข้างเคียงจากยา ยาทุกตัวถ้าใช้ในขนาดปกติอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้นมากหรือน้อยแล้วแต่บุคคล กินยาลดน้ำมูกคลอเฟนิรามินแล้วง่วงนอน หรือกินยาแก้อักเสบบางตัวแล้วมีผลระคายเคืองกระเพาะอาหาร ทางแก้ต้องเริ่มที่อ่านสลากยาให้เข้าใจ ยาที่ใช้แล้วง่วงก็ไม่ควรขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ก็ควรทานยาหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามให้มากๆ 


  2. แพ้ยา คือ ปฏิกิริยาการต่อต้านของภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อได้รับการใช้ยา ไม่ว่าจะเป็น ยาทา ยารับประทาน และยาดม อาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน เปลือกตาบวม ริมฝีปากบวม หายใจขัด สามารถเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นหลังการใช้ยาแล้วมีอาการผิดปกติ ควรหยุดการใช้ยา ควรจำชื่อยาที่แพ้ให้ได้ แจ้งชื่อยาที่แพ้ทุกครั้งไปไปพบแพทย์ และทำการพบแพทย์โดยทันที


ข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการใช้ยา

  • อ่านสลากยาที่ต้องใช้ เรียนรู้วัตถุประสงค์และผลข้างเคียงของยา
  • ควรแจ้งแพทย์ว่า ท่านใช้ยา หรือสมุนไพร หรืออาหารเสริมอะไรอยู่บ้าง มีโรคประจำตัวอะไร แพ้ยาอะไร เพื่อป้องกันปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อน
  • หากกลืนยาลำบากควรแจ้งแพทย์เพื่อเลือกให้เหมาะสม เช่นใช้ยาน้ำแทนยาเม็ด หรือปรับขนาดยา
  • กรณีสายตาไม่ค่อยดี ควรเขียนขนาดและวิธีใช้ด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่ หรือจัดยาใส่กล่องแยกตามมื้อ เช่น มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น และก่อนนอน
  • เลี่ยงการหาหมอหลายคน สำหรับโรคเดียว เพราะอาจได้ยาซ้ำซ้อน
  • ห้ามใช้ยาของผู้อื่น ด้วยเชื่อว่ามีอาการของโรคเหมือนกัน อาจเกิดอันตรายจากการใช้ยานั้นได้
  • ลืมทานยา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องทานยาจำนวนมากมักลืมทานยามื้อกลางวันบ่อยที่สุด หรือมักลืมทานยาก่อนอาหาร ซึ่งยาบางอย่างจำเป็นต้องทานก่อนอาหารครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เพราะยาจะถูกดูดซึมดีตอนท้องว่าง หรือยาบางชนิดเพื่อให้ออกฤทธิ์พอดีเวลาอาหาร
  • ทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ปรับลดขนาดยาเอง
  • เก็บยาไม่ถูกต้อง เช่น ลืมทิ้งไว้ในรถซึ่งจอดกลางแดด หรือเข้าใจว่ายาทุกชนิดควรเก็บไว้ในตู้เย็น หรือในช่องแข็ง ทำให้ยาเสื่อมก่อนถึงวันหมดอายุ ประสิทธิภาพยาลดลง
  • ทุกครั้งที่ซื้อยา ต้องหาดูวันหมดอายุที่แผงหรือขวดยา หรือหลอดบรรจุยา ให้มั่นใจว่ายาที่ซื้อไปยังไม่ถึงวันหมดอายุอย่างน้อยที่สุด 6 เดือนถึง 1 ปี
  • หากเกิดอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน เปลือกตาบวม ริมฝีปากบวม หายใจขัด สามารถเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ควรหยุดการใช้ยา และทำการพบแพทย์โดยทันที
  • หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูล
•อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา - อ.ดร.ภูริดา เวียนทอง/หนังสือใช้ยาหรือสมุนอย่างไรให้ปลอดภัย จากใจเภสัชกร
•https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/การใช้ยาฟุ่มเฟือย-พฤติก/
•https://www.thaihealth.or.th/10-พฤติกรรมใช้ยาไม่ปลอดภ/

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 223
เดือนกันยายน 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น