การ์ตูน-สื่อ ‘ฮีลใจ’ เด็กและผู้ใหญ่ที่ประสบภาวะเครียด

หนังสือการ์ตูนอาจจะไม่ได้เหมาะแค่สำหรับเด็กเท่านั้น เมื่อเร็วๆ นี้พบว่าหนังสือการ์ตูนเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทางจิตใจ อีกทั้งยังส่งเสริมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้เผยความรู้สึก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางสุขภาพจิต 

หนึ่งในผู้ผลิตผลงานการ์ตูนที่เห็นความสำคัญในด้านนี้คือ แช็ก ลอว์รี่ นักเขียนหนังสือการ์ตูนเรื่อง “Soldiers Unknown” เรื่องราวของทหารสามนาย ที่เป็นชนพื้นเมืองอเมริกันจากเผ่า Yurok กลับมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในสงครามโลกครั้งที่ 1

ในการให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ลอว์รี่ กล่าวว่า ขณะที่มีการเล่าเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับทหารผ่านศึก แต่มักไม่มีการพูดถึงชีวิตที่ยากลำบากของทหารเหล่านั้น หลังจากเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ ดังนั้น เขาจึงเลือกเล่าเรื่องราวด้านนั้นผ่านผลงานการ์ตูน เพราะนายทหารผ่านศึกหลายคนกลับมาติดเหล้า เสพยา เนื่องจากสภาวะป่วยทางจิตใจจากเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) รวมทั้งจากความเจ็บปวดและความทรมานต่างๆ

เรื่องราวในการ์ตูนของลอว์รี่นั้นพูดถึงวัฒนธรรมและพิธีกรรมของชนพื้นเมืองที่นำมาใช้เยียวยาอาการป่วยทางจิตที่เกิดขึ้นทหารผ่านศึกหลังกลับมาจากสงคราม โดยเขาเล่าว่า ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับกลุ่มผู้อ่านที่เป็นชนพื้นเมืองอเมริกัน หรือที่เคยมีการเรียกในอดีตว่าเป็น ชนเผ่าอินเดียนแดง ซึ่งยังคงต้องรับมือกับอาการบาดเจ็บทางอารมณ์ ในบริบทการถูกล่าอาณานิคม รวมถึงการถูกกดขี่

ส่วน ลอร์เรน แกร์ริสัน นักจิตวิทยาประจำโรงเรียนแห่งหนึ่ง เป็นอีกคนที่พยายามผลักดันให้หนังสือการ์ตูนกลายมาเป็นพื้นที่ที่จะช่วยให้เด็ก ๆ แสดงสามารถความรู้สึกของตนเองออกมาได้

แกร์ริสัน ยกตัวอย่างหนังสือที่ชื่อว่า “First Day of School Jitters” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเครียดของเด็กในการไปโรงเรียนวันแรก โดยตัวเธอและสามีเป็นผู้ช่วยกันวาดการ์ตูนเล่มนี้เพื่อหวังช่วยให้เด็ก ๆ เตรียมความพร้อมสำหรับวันแรกในโรงเรียน พร้อมระบุว่า การที่ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ช่วยอ่านให้เด็กฟัง ก็อาจช่วยบรรเทาอาการเครียดของลูกหลานก่อนที่จะไปโรงเรียนวันแรกได้

ประสบการณ์การทำงานในโรงเรียนทำให้แกร์ริสันยังพบว่า การใช้ตัวละครที่เด็กๆ ชื่นชอบเป็นสื่อในการเข้าหาและช่วยสื่อสารสามารถช่วยคลายความวิตกกังวลของเด็กได้ไม่น้อย โดยยกตัวอย่างภูมิหลังของตัวละครในหนังสือการ์ตูนจำนวนมากที่มาจากพื้นฐานไม่สมบูรณ์ เช่น สไปเดอร์แมนที่เป็นเด็กกำพร้าและมาจากครอบครัวที่ยากจน หรือ แบทแมนที่เป็นเด็กกำพร้าเช่นกัน ซึ่งเธอเชื่อว่า เป็นตัวกลางที่ดีในการช่วยให้คนรอบข้างสามารถพูดกับเด็กได้ง่ายกว่า

นักจิตวิทยาในโรงเรียนท่านนี้ยังพูดถึงประเด็นเปราะบาง อย่างการฆ่าตัวตายในหมู่เด็กนักเรียน โดยชี้ว่าหนังสือการ์ตูนสามารถช่วยป้องกันเหตุการณ์เช่นนั้นได้ เพราะสื่อประเภทนี้จะช่วยให้เด็กๆ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรืออยู่คนเดียว อีกทั้งยังช่วยให้เหล่าเยาวชนแสดงความรู้สึกออกมาและเรียนรู้ที่จะขอความช่วยเหลือยามที่พวกเขาต้องการได้ด้วย


ที่มา
https://www.voathai.com/a/comics-helping-overcome-anxieties-trauma/7243289.html

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 223
เดือนกันยายน 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น