งานพัฒนาบนพื้นฐานความเป็น “ปอเนาะ”

ปอเนาะ (ภาษามลายูปัตตานี เพี้ยนจาก pondok "ปนโดะก์" ในภาษามลายูกลาง ยืมมาจากภาษาอาหรับ فندق "ฟุนดุก" แปลว่า โรงแรม ที่พัก) หมายถึงสำนักสอนศาสนาอิสลามที่มีหอพักนักเรียนอยู่ในบริเวณสำนัก ซึ่งโดยปกติจะเป็นกระท่อมเล็กๆ ทุกๆ ตำบลในสามจังหวัดภาคใต้มีปอเนาะมากกว่าหนึ่งปอเนาะ

การจัดการเรียนการสอนในปอเนาะดำเนินการโดยโต๊ะครู ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางศาสนา การเปิดปอเนาะถือเป็นวิทยาทาน ไม่เก็บค่าเล่าเรียน โต๊ะครูมีรายได้จากการบริจาค (ศอดะเกาะหฺ) หรือซะกาต วิชาที่สอนในปอเนาะได้แก่ การสอนภาคศรัทธา (เตาฮีด) ภาคปฏิบัติ (ฟิกหฺ) ซึ่งรวมถึงศาสตร์มรดกและครอบครัว (ฟะรออิฏ) ภาคจริยธรรม (อัคลาก) ภาคประวัติศาตสตร์ (ตารีค) การอ่านอัลกุรอาน และการปฏิบัติตนที่ถูกต้องตามหลักศาสนา สอนเป็นภาษามลายูและภาษาอาหรับ ระยะเวลาในการเรียนของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นกับความสมัครใจ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 2-6 ปี แต่ก็มีผู้ศึกษาจนถึง 10-15 ปี

การเรียกชื่อปอเนาะมักเรียกตามชื่อหมู่บ้าน สถานที่ตั้งปอเนาะอาจเป็นบ้านของโต๊ะครู หรือที่ดินจากการบริจาคของชาวบ้านที่ศรัทธาโต๊ะครูผู้นั้นก็ได้ ปอเนาะเป็นสถานศึกษาของเอกชน รัฐบาลหรือองค์กรใดๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งแต่อย่างใด ไม่ได้มีงบประมาณสนับสนุนจากทางภาครัฐ 

“ปอเนาะ” มีลักษณะเป็นสถาบันการศึกษาระบบเปิด มีการจัดการเรียนการสอนโดยยึดหนังสือตำราเป็นหลัก ไม่มีหลักสูตรเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการบริหารจัดการแบบโต๊ะครูบริหารคนเดียว

ปัจจุบันปอเนาะหลายแห่ง มีการพัฒนาและแปรสภาพเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ทั้งทางด้านเงินอุดหนุน ด้านการจัดหลักสูตรทั้งศาสนาและสามัญด้านการพัฒนาผู้บริหารและบุคลากรด้านสื่อการเรียนการสอน และยังให้สถาบันการศึกษาอื่นมาร่วมเปิดสอนในหลักสูตรต่างๆ ทางวิชาชีพอีกด้วย 

อย่างไรก็ดีชาวบ้านทั่วไปยังคงเรียกโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแบบติดปากว่า “ปอเนาะ” เช่นเดิม ในส่วนปอเนาะระบบเดิมที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันศึกษาปอเนาะ” แต่ชาวบ้านก็ยังคงเรียกว่า “ปอเนาะ” เช่นกัน ดังนั้นในมุมของชาวบ้าน คำว่า “ปอเนาะ” จะหมายถึงสถานศึกษาทั้งที่เป็นปอเนาะดั้งเดิมและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามได้ด้วย

ในอดีตที่ผ่าน สสม. ได้ดำเนินโครงการปอเนาะสร้างสุข กับปอเนาะดั้งเดิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอำเภอสะบ้าย้อยในจังหวัดสงขลา เพื่อสร้างต้นแบบปอเนาะสร้างสุขที่เน้นการสร้างมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการควบคุมบุหรี่ที่มีแนวทางที่ชัดเจน โดยปอเนาะที่เข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติและความพร้อมเพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างราบรื่น จนสามารถก่อเกิดความสำเร็จดังนี้

  1. ทำวิจัยเพื่อศึกษาหลักสูตรปอเนาะสร้างสุขในพื้นที และมีการจัดทำ (ต้อนแบบ) หลักสูตรปอเนาะสร้างสุข
  2. เกิดมาตรการในการจัดการสิ่งแวดล้อม จัดการให้มีภูมิทัศน์เป็นระเบียบเรียบร้อย
  3. ทำให้มีมาตรการควบคุมปัญหาการบริโภคบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นเป็นลายลักษณ์อักษรในปอเนาะ
  4. พัฒนาอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ในสถาบันปอเนาะ เพื่อให้สามารถป้องกันมิให้เกิดผู้สูบรายใหม่
  5. จากการประเมินอัตราการสูบบุหรี่ในบริเวณปอเนาะมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลง
  6. มีการอบรมฝึกอาชีพเพื่อเป็นการสร้างรายได้ใหกับนักเรียนปอเนาะ

จากการดำเนินโครงการปอเนาะสร้างสุขที่ผ่านมา พบว่า ปอเนาะดั้งเดิมนั้นมีความต้องการการพัฒนาในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะด้านสภาพความเป็นอยู่ สุขอนามัย และทักษะการประกอบอาชีพ เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีข้อจำกัดที่ควรทำความเข้าใจไว้ กล่าวคือ ระบบปอเนาะดั้งเดิมนั้นมุ่งเน้นในด้านการขัดเกลาจิตวิญญาณ การเรียนรู้ศาสนารวมถึงการปฏิบัติศาสนกิจเป็นสำคัญ การบูรณาการณ์ศาสตร์อื่นเข้าไปหรือการเพิ่มกิจกรรมที่อยู่นอกเป้าหมายเหล่านี้อาจไม่ราบรื่นมากนัก และถูกมองว่ากระทบกับวิถีดั้งเดิมของปอเนาะ ความสำเร็จของกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับโต๊ะครู (บาบอ) เป็นสำคัญ การส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ในปอเนาะระบบดั้งเดิมจึงควรให้ความสำคัญกับโต๊ะครู (บาบอ) ก่อนเป็นอันดับแรก

กรณีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้น เป็นโรงเรียนในระบบ มีหน่วยงานดูแลและมีงบสนับสนุนจากรัฐตามกฎหมาย จึงไม้ได้ขาดการพัฒนาและไม่ได้มีปัญหาด้านสุขภาวะ เช่น การสูบบุหรี่ในโรงเรียนมากเท่าปอเนาะดั้งเดิม


ลุกมาน กูนา รายงาน


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 223
เดือนกันยายน 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น