โภชนาการในระหว่างตั้งครรภ์

พบหมอจินตนา | พญ.จินตนา โยธาสมุทร

ในขณะที่มีชีวิตใหม่อุบัติขึ้นในร่างกายของคุณ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรย่อมจะมีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตเล็กๆ ในครรภ์ที่อุบัติขึ้นอย่างมากมาย นพเป็นคนหนึ่งซึ่งกำลังตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนกว่า เธอมีอาการแพ้ท้องบ้าง เธอรีบไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แพทย์ได้ตรวจร่างกาย เจาะเลือดแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติแต่ประการใด แพทย์จึงแนะนำการปฏิบัติตัวซึ่งจะทำให้ทารกในครรภ์มีสุขภาพดีแข็งแรง แพทย์กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่คุณควรตระหนักอยู่ตลอดเวลาคือ อาหารทุกคำที่คุณรับประทานหมายถึงสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ด้วย แม่ซึ่งรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง จะทำให้ทารกมีสุขภาพดี แต่ถ้าแม่รับประทานอาหารประจำวันที่ไร้คุณค่า เป็นอาหารสำเร็จรูปบ่อยๆ อาจทำให้ทารกเกิดภาวะตายคลอด คลอดก่อนกำหนด มีการทำงานของร่างกายไม่สมบูรณ์ และเกิดความพิการมาแต่กำเนิดได้”

แพทย์แนะนำให้นพเข้ากลุ่มสนทนารับความรู้ร่วมกับหญิงตั้งครรภ์รายอื่นในเรื่องโภชนาการระหว่างตั้งครรภ์ จากพยาบาลวิชาชีพในแผนกสูตินรีเวชกรรม ซึ่งจัดให้มีขึ้นทุกวันพุธ เวลา 10.00 น. – 11.00 น. 

นพเป็นคนหนึ่งในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ประมาณ 20 คน ซึ่งเข้ารับฟังการบรรยายเรื่องของโภชนาการที่ดีตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือนว่า อาหารทุกคำมีประโยชน์สำหรับการตระเตรียมพลังงานให้ทารกในครรภ์ก่อนที่จะออกมาสู่โลกภายนอก แม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อทารกในครรภ์ อาหารซึ่งให้พลังงานเท่ากันไม่ได้มีประโยชน์ต่อร่างกายเท่ากัน การรับประทานอาหารนอกจากจะต้องคำนึงถึงพลังงานที่เพียงพอแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงคุณค่าของสารอาหารที่ควรได้รับอีกด้วย ทารกในครรภ์จะได้รับอาหารโดยตรงจากอาหารซึ่งแม่รับประทานมื้อต่อมื้อ ถ้าแม่อดอาหารมื้อใด ทารกในครรภ์จะอดอาหารมื้อนั้นตามไปด้วย  แม่จึงควรรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ แม้ว่าจะไม่รู้สึกหิว ถ้าแม่เกิดอาการอึดอัดเนื่องจากอาหารไม่ย่อย แม่ควรจะปรับมื้ออาหารจากวันละ 3 มื้อ มาเป็นวันละ 4-5  มื้อ  

การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าอาหารสูง คือการเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนตามพลังงานที่ต้องการ พยายามขจัดอาหารที่ไร้ประโยชน์ออกไปจากมื้อของอาหารปกติ เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ ควรคำนึงถึงอาหารที่ทารกในครรภ์ต้องการ โดยไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินไป ไม่รับประทานข้าวขัดข้าว ขนมปัง น้ำตาล อาหารที่ปรุงแต่งจากแป้งทุกชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรทมีคุณค่าทางอาหารต่ำ ให้พลังงานน้อย แต่ทำให้น้ำหนักเพิ่มได้ง่าย  

ควรรับประทานอาหารประเภทธัญญพืช ผลไม้สด ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารเช่นเดียวกับแป้งและข้าวทั่วไป แต่มีโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร ในปริมาณที่ไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สามารถควบคุมน้ำหนักตัว ลดปัญหาการเกิดโรคเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ โรคฟันผุ โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า แต่ถ้าต้องการรสหวานหรือความอร่อยในรสชาติของอาหาร ให้เลือกรับประทานผลไม้ หรือน้ำผลไม้สด ไม่ควรรับประทานอาหารที่ทำจากน้ำตาล ซึ่งเกือบทุกชนิดมักปรุงมาจากน้ำตาลฟอกขาว หรือสารให้ความหวานที่เรียกว่า “น้ำตาลเทียม” ส่วนสิ่งต้องห้ามเป็นอย่างยิ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ สุรา บุหรี่ และยาที่ไม่จำเป็นชนิดต่างๆ

นพได้รับความรู้มากมายจากการฟังบรรยาย เธอจึงนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ปฏิบัติตัวอย่างสม่ำเสมอ เธอไปตรวจครรภ์ตามนัดทุกครั้ง เธอได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์นั้นมีความสำคัญมาก ถ้าแม่ขาดสารอาหารโปรตีนย่อมจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ถ้าขาดสารอาหารกลุ่มกรดโฟลิก จะทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติของระบบประสาทไขสันหลัง และถ้าขาดแร่ธาตุสังกะสี จะทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด

แพทย์ชมว่านพเป็นหญิงตั้งครรภ์ซึ่งรักษาสุขภาพได้ดี สามารถรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสม มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีอาการท้องผูก ไม่อ่อนเพลีย และไม่แพ้ท้องมาก เนื่องจากเธอได้เรียนรู้และปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการในระหว่างการตั้งครรภ์ จนเกิดเป็นบริโภคนิสัย  แพทย์คาดว่าทารกในครรภ์ของเธอจะเป็นทารกน้อยน่ารัก สุขภาพแข็งแรง คลอดครบกำหนด ซึ่งจะลืมตามาดูโลกในเวลาอันใกล้นี้

ที่มา  - สุขสาระ มิถุนายน 2549



สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 224
เดือนตุลาคม 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น