ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Vrije Universiteit Amsterdam ของเนเธอร์แลนด์ ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารวาร PLOS One หลังได้สำรวจพฤติกรรมของบุคลากรทางการแพทย์ในชีวิตประจำวัน เพื่อประเมินถึงผลกระทบของพฤติกรรมเหล่านี้ต่อความเสี่ยงที่พวกเขาอาจติดเชื้อไวรัส SARS-Cov-2 ซึ่งก่อโรคโควิด-19
มีการให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 219 คน ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านสุขอนามัยส่วนตัว เช่น ไว้หนวดเคราหรือไม่ สวมแว่นตา แคะจมูก หรือกัดเล็บเป็นประจำหรือไม่
หลังติดตามข้อมูลสุขภาพของคนเหล่านี้ในเวลาราว 6 เดือนถัดมา ทีมผู้วิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ยอมรับว่าชอบแคะขี้มูกอยู่บ่อยครั้งนั้น มีอัตราการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สูงกว่าคนทั่วไปที่ 17% ซึ่งนับว่าสูงกว่าเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราการติดเชื้อของคนไม่แคะขี้มูกที่ 5.9%
แม้ว่า ผลการศึกษานี้ไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการแคะจมูกทำให้ติดโควิดได้ในทุกกรณี แต่ก็เป็นข้อมูลที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มความสัมพันธ์ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า การแคะขี้มูกทำให้เชื้อโรคจากภายนอกเข้าถึงเนื้อเยื่ออ่อนภายในโพรงจมูกหรือลำคอได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำนิสัยเช่นนี้ในสภาพแวดล้อมที่มีการแพร่กระจายของเชื้อโรคสูง
นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแล้ว นิสัยชอบแคะขี้มูกยังเป็นการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ให้กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้นด้วย โดยเชื้ออาจไปติดอยู่ตามพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ในที่ทำงาน ซึ่งคนจำนวนมากใช้ร่วมกัน
อย่างไรก็ตามพฤติกรรมด้านสุขอนามัยส่วนตัว เช่น การสวมแว่นตา ไว้หนวดเครา หรือเผลอกัดเล็บอยู่เป็นประจำ ไม่ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้นทีมผู้วิจัยก็ไม่แนะนำเรื่องการกัดเล็บ เพราะเชื่อว่ามีความเสี่ยงอยู่บ้าง ในการที่จะทำให้เชื้อไวรัสโควิดเข้าถึงเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากและลำคอได้
งานวิจัยบางชิ้นก่อนหน้านี้ชี้ว่า ประชากรโลกถึง 9 ใน 10 คน มีนิสัยชอบแคะจมูก รวมทั้งสัตว์หลายชนิดก็มีพฤติกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน การแคะขี้มูกหรือถอนขนจมูกส่งผลกระทบต่อระบบชีวนิเวศของจุลินทรีย์ (microbiome) ภายในโพรงจมูก ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ในอนาคตได้ด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น