เราสร้างนิสัยที่ดีและแย่ขึ้นมาจากการกระทำอะไรซ้ำๆ ต่อเนื่อง เมื่อวันหนึ่งที่เราสร้างนิสัยผัดวันประกันพรุ่งขึ้นมา ก็เพราะว่า “งาน” นั้นขัดแย้งกับนิสัยที่มีอยู่แล้วของเรา เพราะไม่ใช่ส่วนหนึ่งที่เราเคยทำ และเมื่อเราต้องรับทำ เราต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะให้เสร็จงาน
การผัดวันประกันพรุ่งเป็นนิสัยที่พบบ่อยในวัยเรียนและวัยทำงาน โดยพบว่าคนวัยทำงานกว่า 1 ใน 5 ประสบปัญหาในการทำงานจากนิสัยผัดวันประกันพรุ่งและส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
การเลื่อนเวลาทำบางสิ่งออกไปอาจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่หากเราผัดวันประกันพรุ่งจนเป็นนิสัย อาจส่งผลเสียต่อหน้าที่การงาน และการใช้ชีวิตได้
นักวิจัยซึ่งเผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Psychological Science ศึกษาเรื่องนี้โดยการใช้แบบสำรวจและสแกนสมองคน 264 คน เพื่อดูว่าเป็นคนที่มีแนวโน้มจะรีบจัดการกับภารกิจตรงหน้าอย่างรวดเร็วแค่ไหน นักวิจัยพบว่ามีสมองอยู่สองส่วนที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะลงมือทำภารกิจตรงหน้าให้เสร็จ หรือเลื่อนเวลาออกไปเรื่อยๆ
งานวิจัยพบว่าคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งนั้น มีสมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala) ซึ่งมีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ ทำหน้าที่ควบคุมเหตุผลและอารมณ์ ใหญ่กว่า และการเชื่อมต่อของสมองส่วนที่เรียกว่าอมิกดาลา กับส่วนล่างของสมองบริเวณที่เรียกว่า anterior cingulate cortex ไม่ดีเท่าคนอื่น ซึ่งจะมีผลให้สามารถจัดการกับอารมณ์และสิ่งเร้าที่เข้ามารบกวนน้อยกว่า อันจะส่งผลต่อความแน่วแน่ในการจัดการกับภารกิจตรงหน้า
นักวิจัยกล่าวว่า คนที่มีสมองส่วนอมิกดาลาใหญ่กว่าคนอื่นอาจจะวิตกกังวลว่าหากตัวเองลงมือทำอะไรแล้วจะเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีตามมา ดังนั้นคนเหล่านี้จึงมีแนวโน้มที่จะลังเลและผัดวันประกันพรุ่ง
- การผัดวันประกันพรุ่งอาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้จริงในระยะแรก แต่อย่างไรก็ตามงานที่ผัดวันไปเรื่อยๆ ก็ยังรอเราอยู่ และเพิ่มมากขึ้นจนตรงกับคำไทยที่ว่า “ดินพอกหางหมู”
- เมื่อดินพอกหางหมู เวลาที่ต้องจบงานก็เร่งเข้ามา จนสุดท้ายเราก็เครียด เกิดปัญหาสุขภาพตามมา
- การวางแผนแบ่งงานทำด้วยความสม่ำเสมอ จะทำให้งานนั้นสำเร็จไปได้ด้วยดี มีประสิทธิภาพ
- การจัดลำดับความสำคัญในแต่ละงานจะช่วยให้สามารถกำหนดเวลาทำงานแต่ละงานได้
- เมื่อมีการวางแผนขั้นตอนการทำงาน จัดลำดับความสำคัญแล้ว อาจเริ่มการจำกัดเวลาทำงานแต่ละชิ้น ตามความเหมาะสมเพื่อให้งานนั้นเสร็จสมบูรณ์ได้ตามเวลา
- ตั้งรางวัลให้กับตนเองเมื่อทำสำเร็จ
การมีนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง จะทำให้ดูเป็นคนที่ไร้ความรับผิดชอบ ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ หรือทำงานเสร็จ แต่งานกลับไม่มีประสิทธิภาพ อาจส่งผลเสียให้กับองค์กรได้
องค์กร ควรให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการทำงานของพนักงานมากขึ้น เพื่อป้องกันพนักงานเกิดปัญหาทางสุขภาพกายและใจ หรือมีนิสัยชอบผัดวันทำงานจนงานไม่มีประสิทธิภาพ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น