ต่อมไทมัส (Thymus Gland) เป็นอวัยวะในร่างกายที่ทำหน้าที่เป็นทั้งเนื้อเยื่อน้ำเหลืองและต่อมไร้ท่อ โดยตั้งอยู่บริเวณหน้าต่อหัวใจและเส้นเลือดแดงใหญ่ หลังต่อกระดูกหน้าอก (Sternal Bone or Breastbone) ตัวต่อมมีลักษณะรูปร่างคล้ายกับผีเสื้อ มีหน้าที่หลักในการทำให้เม็ดเลือดขาวชนิด T cell เติบโตอย่างสมบูรณ์และผลิตฮอร์โมนไทโมซินเพื่อกระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดขาวชนิด T cell เช่นกัน ในภาวะปกติต่อมไทมัสจะเจริญเติบโตและขยายขนาดจนถึงช่วงวัยรุ่นและจะค่อย ๆ ฝ่อลงจนเป็นเพียงเนื้อเยื่อไขมันเมื่อเข้าสู่ช่วงผู้ใหญ่
ข้อมูลทางการแพทย์แผนโบราณของประเทศจีน ถือว่า ร่างกายของคนเรานั้น ถูกควบคุมด้วย 2 สิ่ง คือ สมองและต่อมอก หรือต่อมไทมัส โดยสมองเป็นส่วนที่สั่งงานให้อวัยวะต่าง ๆ เคลื่อนไหว ในขณะที่ต่อมไทมัส จะมีหน้าที่ในการควบคุม การทำงาน ของของเหลวในร่างกาย ด้วยเหตุนี้ แพทย์แผนจีน จึงให้ความสำคัญกับต่อมอก นี้เป็นอย่างยิ่ง
ฮอร์โมนที่ต่อมไทมัสผลิตออกมา จะช่วยในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) ซึ่งเป็นด่านหน้าของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรคร้าย แต่ทว่าต่อมไทมัสนี้จะเหี่ยวแห้งไปเมื่อคนเราย่างเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ดูเหมือนว่ามันเป็นอวัยวะที่ไร้ประโยชน์ จึงมักจะถูกตัดทิ้งเมื่อมีการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก หรือในกรณีที่มีเหตุจำเป็นบางอย่าง
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital ในนครบอสตันของสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่น่าประหลาดใจเกี่ยวกับต่อมไทมัสลงในวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine โดยชี้ว่าการตัดต่อมไทมัสทิ้งไปนั้น ส่งผลเสียร้ายแรงโดยเป็นอันตรายถึงชีวิตกับคนไข้วัยผู้ใหญ่ที่ถูกตัดต่อมดังกล่าวได้
ผลการศึกษาข้างต้น มาจากการติดตามรวบรวมข้อมูลสุขภาพของคนไข้ชาวอเมริกันกว่า 7,000 ราย เป็นเวลานานกว่า 5 ปี โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกตัดต่อมไทมัสออกรวมอยู่ด้วย 1,146 ราย ทีมผู้วิจัยพบว่า ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดเอาต่อมไทมัสทิ้งไปนั้น มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตลงจากโรคร้ายภายใน 5 ปีถัดมา ในอัตราที่สูงกว่าคนที่ยังมีต่อมไทมัสอยู่ถึง 2 เท่า ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งทุกชนิดสูงกว่าถึง 2 เท่าอีกด้วย แม้จะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม
ทีมผู้วิจัยจึงสันนิษฐานได้ว่า ต่อมไทมัสที่เหี่ยวแห้งไปแล้ว ก็ยังคงมีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือต่อการป้องกันเซลล์มะเร็งก่อตัวในวัยผู้ใหญ่ เพราะคนที่ไม่มีต่อมไทมัสจะมีความหลากหลายของตัวรับทีเซลล์ (T-cell receptors*) ในเลือดลดลงไปมาก
ต่อมไทมัสยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างทีเซลล์ใหม่ในวัยผู้ใหญ่ รวมทั้งการรักษาสุขภาพร่างกายโดยรวมให้เป็นปกติ การพิจารณาเก็บรักษาต่อมไทมัสเอาไว้โดยไม่ตัดทิ้งไปง่าย ๆ ควรจะเป็นสิ่งที่ศัลยแพทย์คำนึงถึงเป็นอันดับแรก เพราะความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อคนไข้นั้นอาจสูงมากจนคาดไม่ถึง
หมายเหตุ T-cells เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง มีตัวรับ (T cell receptor หรือ TCR) ที่สามารถจดจำและจับได้กับแอนติเจนที่จำเพาะ ดังนั้นหากมีการกระตุ้นให้ T cells มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและให้มีการแสดงออกของตัวรับที่มีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็งจะเกิดประโยชน์อย่างมาก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น