โรคการกินผิดปกติ

ความผิดปกติของการ “กิน” เป็นภาวะสุขภาพที่ร้ายแรง ผู้ป่วยจะมีความกังวลกับอาหารที่กิน กังวลต่อน้ำหนักตัว กังวลต่อรูปร่าง หรืออื่นๆ อาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต และความสามารถในการทำงานในด้านสำคัญของชีวิต

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ความผิดปกติของการกินอาจกลายเป็นปัญหาระยะยาว และในบางกรณีอาจทำให้เสียชีวิตได้ ความผิดปกติในการ “กิน” ที่พบบ่อยที่สุดคืออาการเบื่ออาหารบูลิเมีย และโรคการกินมากเกินไป

ความผิดปกติของการ “กิน” อาหารส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการให้ความสำคัญกับน้ำหนัก รูปร่าง และอาหารมากเกินไป นำไปสู่พฤติกรรมการกินที่เป็นอันตรายได้ ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อความสามารถในการได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ความผิดปกติของการกินอาจเป็นอันตรายต่อหัวใจ ระบบย่อยอาหาร กระดูก ฟัน และปาก ก็สามารถนำไปสู่โรคอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล การทำร้ายตัวเอง ตลอดจนความคิดและพฤติกรรมฆ่าตัวตาย ความผิดปกติในการ “กิน” อาหาร ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคนใน ช่วงเวลาหนึ่ง โดยส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 35 ปี

พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ชนิดที่สำคัญและพบได้บ่อย มีดังนี้

1. อาการเบื่ออาหาร (an-o-REK-see-uh) หรือที่เรียกว่า Anorexia Nervosa (โรคคลั่งผอม) ผู้ป่วยจะจำกัดการกินอาหาร จำกัดพลังงาน เลือกชนิดอาหารอย่างเข้มงวด ปฏิเสธว่าไม่หิว ทั้ง ๆ ที่หิวอยู่ มีความกังวลว่าน้ำหนักจะขึ้นทั้ง ๆ ที่ตนเองอาจอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ อาการเบื่ออาหารมักเกี่ยวข้องกับการใช้ความพยายามอย่างมากในการควบคุมน้ำหนักและรูปร่าง ซึ่งมักจะรบกวนสุขภาพและชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง

2. Bulimia (buh-LEE-me-uh) หรือที่เรียกว่า Bulimia nervosa (โรคล้วงคอ) เป็นโรคการกินที่ร้ายแรงและบางครั้งอาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยผู้ป่วยมีอาการ “อยากกินแต่ไม่อยากอ้วน” กินอาหารในปริมาณที่มากกว่าปกติ ไม่สามารถควบคุมได้ จากนั้นใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อจัดการกับอาหารกินที่มากไป เช่น ล้วงคอเพื่อให้อาเจียนออกมา การกินยาระบาย หรือการไปออกกำลังกายอย่างหนัก โรคบูลิเมีย เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่นเพศหญิง

3. โรคกินไม่หยุด (Binge eating disorder) ผู้ป่วยจะ “กิน” อาหารมากผิดปกติโดยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ (ไม่หิวก็กินได้) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินหรืออ้วน

4. Avoidant Restrictive Food Intake Disorder (ARFID-โรคเลือกกินอาหาร) อาการคล้ายโรคคลั่งผอม ผู้ป่วยเลือกกินอาหารบางชนิดและจำกัดอาหาร แต่ไม่ได้กังวลเรื่องรูปร่างหรือน้ำหนักตัว ถ้าเกิดขึ้นในเด็กจะทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการผิดปกติ ในผู้ใหญ่ทำให้น้ำหนักลด หรือเกิดภาวะขาดสารอาหาร

5. Orthorexia (โรคคลั่งกินคลีน) ผู้ป่วยจะมีความกังวลเกี่ยวกับอาหาร จะคำนึงถึงและเลือกกินเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีการอ่านฉลากโภชนาการ เช็คส่วนประกอบของอาหารทุกครั้งก่อนเลือกกิน ใช้เวลานานในการนึกถึงอาหารที่ต้องมีประโยชน์ในมื้อถัดไป ผู้ป่วยจะรู้สึกเครียดถ้ามื้อใดไม่ได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ บางรายงดการกินอาหารบางอย่างไปเลย เพราะคิดว่าเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เนื้อสัตว์

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการกินผิดปกติเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย หากท่านสังเกตว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายพฤติกรรมการกินผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะตามมา

ข้อมูล
https://www.theptarin.com/th/article/detail/89
https://www.thairath.co.th/lifestyle/health-and-beauty/2389827
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/eating-disorders/symptoms-causes/syc-20353603
https://www.psychiatry.org/patients-families/eating-disorders/what-are-eating-disorders

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 225
เดือนพฤศจิกายน 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น