หมวกกันน็อกลดการบาดเจ็บ

หมวกกันน็อก คืออุปกรณ์ลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางการจราจรที่สำคัญมากที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่า “หมวกกันน็อก” เป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ละเลยมากที่สุดเช่นกัน

ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยขึ้นอันดับหนึ่ง “ประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลก” และ 70 เปอร์เซ็นต์ของอุบัติเหตุทั้งหมดคือมอเตอร์ไซค์

มีเด็กไทยจำนวนมากถึง 1.7 ล้านคนที่โดยสารโดยใช้รถมอเตอร์ไซค์ แต่มีเพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์หรือราวๆ 1.2 แสนคนเท่านั้นที่สวมใส่หมวกกันน็อก และสาเหตุหลักมาจาก ผู้ปกครอง ไม่สวมใส่ให้ 

หลายคนบอกว่า “ไม่ใส่ได้ไหม ไปแค่นี้เอง ไม่เป็นไรหรอก” แต่คุณรู้หรือไม่ว่า 5 กม. ใกล้บ้าน แค่นี้เอง คือระยะอันตรายที่เจ็บและตายมากที่สุด มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์ เกิดขึ้นภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากที่พัก!

ขอย้ำก้นอีกครั้งว่า อุบัติเหตุของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในรัศมีใกล้ๆ กับจุดสตาร์ทภายในรัศมี 5 กิโลเมตรทั้งนั้น

ตามสถิติแล้ว การ ‘เสียชีวิต’ จากการใช้ยานพาหนะสองล้อ มีสาเหตุหลักจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ สูงถึง 88 เปอร์เซ็นต์ โดยประมาณ การบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและพิการ

โดยตำแหน่งที่บาดเจ็บมักจะเกิดที่หน้าผาก ศีรษะด้านบน รองลงมาคือศีรษะด้านข้าง และด้านหลังท้ายทอย การบาดเจ็บเหล่านี้ ล้วนเกิดจากปัจจัยที่เราป้องกันได้ แต่เลือกที่จะไม่ทำ อย่างการสวมหมวกกันน็อก 

ศีรษะของเราแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นผิวหนัง ชั้นกะโหลก และชั้นสมอง โดยที่รอบ ๆ สมองของเรา จะมีของเหลวหล่อเลี้ยงอยู่ เพื่อปกป้องสมองจากการกระแทก ในอุบัติเหตุ ส่วนมากศีรษะของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ มีโอกาสสูงที่จะไปกระแทกของแข็งอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ตัวกะโหลกหยุดเคลื่อนไหวกะทันหัน แต่สมองที่ลอยตัวอยู่ในกะโหลกไม่เป็นอย่างนั้น มันจะเคลื่อนตัวไปกระแทกกับกะโหลกหลายต่อหลายครั้ง หรือเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ‘สมองได้รับการกระทบกระเทือน’ ทำให้สมองได้รับบาดเจ็บ จนเกิดอาการช้ำ บวม หรือหากร้ายแรงมากๆ อาจจะทำให้กะโหลกศีรษะร้าวก็เป็นได้

หมวกกันน็อกถูกออกแบบมาให้รับแรงกระแทกและลดความรุนแรงของผลที่เกิดขึ้นจากการกระแทกนั้น แทนที่จะเอาหัวเราไปชนวัตถุแข็งๆ โดยตรง ก็กลายเป็นว่าชนกับเนื้อโฟมของหมวกกันน็อกแทน
โฟมในหมวกกันน็อกมีคุณสมบัติยืดหดได้ จะช่วยยืดเวลาก่อนที่ศีรษะจะหยุดการเคลื่อนไหวออกไปประมาณ ‘6 มิลลิวินาที’ เวลาสั้นๆ แค่นี้แต่มีค่า เพราะสามารถช่วยกระจายแรงกระแทกไปยังพื้นที่ที่กว้างขึ้น ทำให้แรงกระแทกไม่ไปรวมอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งของกะโหลกเท่านั้น ส่งผลให้แรงกระแทกต่อเนื้อสมองลดลง

การสวมหมวกกันน็อกจึงช่วยลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บศีรษะของผู้ขับขี่ได้ประมาณ 43% ลดการบาดเจ็บทางศีรษะของผู้ซ้อนท้ายได้ประมาณ 58% รวมถึงลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ 39%

อย่างไรก็ตาม แม้จะสวมหมวกกันน็อกแล้วก็ใช่ว่าจะซิ่งได้ตามใจชอบ ความเร็วที่ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) แนะนำจึงอยู่ที่ 40-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถือว่าไม่เร็วเกินไป และเมื่อเกิดอะไรขึ้น หมวกกันน็อกก็จะช่วยปกป้องเราได้อย่างเต็มที่ที่สุด 

ขณะที่หมวกกันน็อกที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัย (มอก.) ได้ออกแบบให้ทนแรงกระทบต่อศีรษะที่ความเร็วเพียง 30 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น

ควรเลือกหมวกกันน็อกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 369-2539) เลือกให้กระชับพอดีกับศีรษะ ซื้อหมวกกันน็อกที่มีสีสว่าง มีสายรัดคาง และควรเปลี่ยนหมวกกันน็อกทุก 3 ปี เพราะโฟมและพลาสติกที่เป็นอุปกรณ์สำหรับในการป้องกันการกระแทกอาจเสื่อมสภาพได้ และน้ำหนักของหมวกกันน็อกไม่ควรเกิน 2 กิโลกรัม มีรูระบายอากาศ มีช่องฟังเสียง และบังลมควรเป็นวัตถุที่โปร่งแสงเพื่อความสะดวกของการมองท้องถนน

ข้อควรระวัง หากเคยทำหมวกกันน็อกกระแทกหรือตกพื้นแล้ว ต้องเปลี่ยนหมวกกันน็อกใหม่ทันที! เพราะแรงกระแทกเหล่านี้มีผลต่อประสิทธิภาพของโฟมภายในนั่นเอง

ข้อมูล
https://www.thaihonda.co.th/honda/news/csr/20190628/safetyhelmet-important
https://thematter.co/brandedcontent/thaihealth-helmet-03/74440
https://www.35yontrakan.com/posts/how-can-helmet-prevent-you-from-danger


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 225
เดือนพฤศจิกายน 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น