ในอดีตการค้นคว้าศึกษาเล่าเรียนหาความรู้นั้น จะมุ่งสู่สถาบันที่เรียกว่า “ปอเนาะ” ซึ่งปอเนาะเป็นสถานที่ ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ในเรื่องของศาสนาอิสลาม ที่จะต้องนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ตามหลักการที่กำหนดไว้ สถาบันปอเนาะได้สร้าง นักวิชาการ ผู้รู้ หรือว่าอุลามะอฺในแต่ละยุคในแต่ละรุ่นหลายท่านด้วยกัน บางท่านได้มาเรียนที่ปอเนาะเป็นเวลาเกือบ 10 ปี เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ความรู้หรือว่ามีความรู้ในระดับหนึ่ง ได้กลับไปเปิดการเรียนการสอนขึ้นที่บ้านของตนเอง โดยเรียกว่า ปอเนาะ เช่นเดียวกัน
ปอเนาะในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่างในอดีตมีหลายแห่งด้วยกัน ปัจจุบันมีหลายปอเนาะที่เปลี่ยนสถานะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเดิมทีเป็นปอเนาะที่สอนศาสนาเพียงอย่างเดียว ผู้บริหารปอเนาะในปัจจุบันที่เป็นลูกหลานของโต๊ะครูเจ้าของปอเนาะเดิม ได้บูรณาการเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแล้วก็ตาม แต่คำพูดหรือว่าคำเรียกที่คุ้นชินของผู้คนยังคงเรียกว่า “ปอเนาะ” ในการเรียกชื่อโรงเรียน หรือปอเนาะนั้น
ปัจจุบันปอเนาะจึงแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ (1) ปอเนาะสายดั้งเดิมสอนวิชาศาสนาเพียงอย่างเดียว (2) ปอเนาะที่เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการและได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาล เหมือนโรงเรียนสามัญทั่วไป แต่ได้บูรณาการวิชาศาสนาเข้าไปด้วย
การจัดทำโครงการหรือทำกิจกรรมกับปอเนาะทั้ง 2 รูปแบบนั้นจะมีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น ในเรื่องของการสร้างปอเนาะปลอดบุหรี่ หากเป็นปอเนาะสายดั้งเดิมที่มีการเรียนการสอนศาสนาเพียงอย่างเดียวค่อนข้างที่จะมีความยากในการขับเคลื่อนกิจกรรมเรื่องปอเนาะปลอดบุหรี่ เพราะการควบคุมหรือการสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ของปอเนาะนั้นไม่ได้มีกฎหรือข้อบังคับที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
ส่วนใหญ่ เด็กที่มาเรียนที่ปอเนาะก็มักจะสูบใบจาก ยาเส้น ซึ่งเหมือนกับว่าเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อๆ กันมา และบางปอเนาะโต๊ะครูผู้สอนก็ยังสูบอยู่ ทำให้การขับเคลื่อนในเรื่องของการสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่นั้นค่อนข้างที่จะทำได้ยากพอสมควร แต่ก็มีบางปอเนาะที่สามารถกำหนดหรือสร้างมาตรการในการควบคุมให้ปอเนาะให้เป็น “ปอเนาะปลอดบุหรี่” ได้ ซึ่งขึ้นอยู่ กับ วิธีการหรือวิธีปฏิบัติ ความเข้มแข็งของผู้นำ แบบอย่างที่ดีของโต๊ะครู ที่จะสร้างมาตรการเหล่านี้ขึ้นมา
แต่กลับกันในส่วนของปอเนาะที่เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่าพื้นที่ของโรงเรียน เป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์ (100%) อย่างชัดเจน จึงทำให้กิจกรรมหรือว่าการขับเคลื่อนต่างๆ ทำได้ง่ายกว่า มีข้อบังคับอยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะทำกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าวมานั้นให้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ เพราะมีกฎเกณฑ์ที่นักเรียนต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า ห้ามสูบ หรือว่า ห้ามนำบุหรี่เข้ามาในโรงเรียน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น