วันหมดอายุหรือวันสิ้นอายุของยา คือวันที่กำหนดอายุการใช้ยาสำหรับยาที่ผลิตในแต่ละครั้ง เพื่อแสดงว่ายาดังกล่าวมีคุณภาพมาตรฐานตามข้อกำหนดตลอดช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันสิ้นอายุของยา
ผู้บริโภคจึงควรทราบวิธีการสังเกตยาหมดอายุ ซึ่งจะเป็นวิธีการตรวจสอบคุณภาพยาอย่างง่ายที่ผู้ใช้ยาสามารถทำได้เอง มีดังนี้
1. ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต สามารถสังเกตได้จากวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เช่น ที่แผงยา ซองยา เป็นต้น กรณีที่ระบุเฉพาะเดือนและปีที่หมดอายุ วันหมดอายุจะเป็นวันสุดท้ายของเดือน
2. ยาแบ่งบรรจุล่วงหน้า( pre-pack) ยานำมาแบ่งบรรจุจะมีอายุการใช้งาน 1 ปี นับจากวันที่แบ่งบรรจุ แต่ต้องไม่เกินอายุยาที่ระบุจากบริษัทยา ดังนั้นยาที่จะนำมาแบ่งบรรจุ ต้องมีอายุการใช้งานเหลืออย่างน้อย1 ปี
3. ยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้ จะเก็บไว้ได้ 3 ปีนับจากวันผลิต ยาน้ำที่มีสารกันเสียทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอก หลังจากเปิดใช้ควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือน การเก็บรักษายาจะต่างกันไปตามที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด
4. ยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้ง เนื่องจากไม่มีสารกันเสีย โดยทั่วไปหลังผสมถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้องเก็บได้ 7 วัน ถ้าเก็บในตู้เย็นเก็บได้ 14 วัน
5. ยาน้ำเชื่อม หลังเปิดใช้ควรเก็บไว้ไม่เกิน 1 เดือน และเก็บที่อุณหภูมิห้อง (การแช่ตู้เย็นไม่ช่วยยืดอายุยา แต่อาจทำให้ยาตกตะกอน หรือน้ำเชื่อมตกผลึก แต่ AZT syrup ต้องเก็บในตู้เย็น )
6. ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารต้านเชื้อ (Preservative) โดยทั่วไปจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน วิธีเก็บรักษาปฏิบัติตามฉลากยา
ยาเสื่อมสภาพ สังเกตได้อย่างไร
1. ยาเม็ด มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เช่น แอสไพรินเสื่อมสภาพจากการได้รับความชื้น ยาที่สีเปลี่ยนไป สีที่เคลือบเม็ดยาเป็นรอยแตก เม็ดยานิ่มกว่าเดิม เม็ดยาบวม มีรอยด่างหรือแตกร่วน ห้ามนำมาใช้
2. ยาเม็ดเคลือบ ยาเม็ดเคลือบน้ำตาลอาจมีการเยิ้มเหนียวหรือมีกลิ่นผิดไปจากเดิม
3. ยาเม็ดแคปซูล แคปซูลแข็ง: แคปซูลมักจะบวมโป่งอาจมีจุดเชื้อราขึ้นที่เปลือกแคปซูล ภายในแคปซูลจะสังเกตเห็นว่าผงยาเปลี่ยนสีจับกันเป็นก้อน
4. แคปซูลนิ่ม : เปลือกแคปซูลเยิ้มเหลวเหนียวกว่าปกติ แคปซูลเปื่อยทะลุทำให้ตัวยาไหลออกมากด้านนอก
5. ยาผงแห้ง ผงยาจะจับตัวกันเป็นก้อนแข็งที่ไม่ปกติไม่สามารถละลายได้และถ้าที่ผนังภาชนะบรรจุมีไอน้ำหรือหยดน้ำแสดงว่ายาเตรียมนั้นไม่เหมาะที่จะนำไปใช้
6. ยาผงสำหรับเด็ก (oral powder) เมื่อผสมแล้วยาไม่ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ควรใช้ หรือถ้าเก็บยาไว้ในที่ร้อน หรือเลยวันหมดอายุ ก็ไม่ควรใช้ เพราะยาอาจหมดฤทธิ์ในการรักษา
7. ยาน้ำเชื่อม มีลักษณะขุ่น เกิดตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูด หรือเหม็นเปรี้ยว
8. ยาน้ำแขวนตะกอน ตะกอนจับกันเป็นก้อน เกาะ ติดกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัวดังเดิม มีความเข้มข้น กลิ่น สีหรือรสเปลี่ยนไป
9. ยาน้ำอีมัลชั่นปกติเมื่อตั้งทิ้งไว้จะแยกเป็นชั้น และเมื่อเขย่าจะเข้ากันดีแต่ถ้ายาเสื่อมแล้วเมื่อเขย่าจะไม่เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
10. ยาครีม มีลักษณะแยกชั้น ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อครีมเปลี่ยนสี หรือมีกลิ่นหืน
11. ยาขี้ผึ้ง เกิดการแยกของของเหลวออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยาเตรียม มีความข้นหนืดเปลี่ยนไป และมีกลิ่นเหม็นหืน
12. ยาเจลเนื้อเจลใสจะเปลี่ยนเป็นขุ่นและไม่เป็นเนื้อเดียวกัน
13. ยาหยอดตา เปลี่ยนจากน้ำใส ๆ เป็นน้ำขุ่น (ยกเว้นยาบางชนิดที่เป็นยาแขวนตะกอน) หรือหยอดตาแล้วมีอาการแสบตามากกว่าปกติ
การป้องกัน “ควรสังเกตลักษณะยาก่อนใช้ยาทุกครั้ง”
https://www.tropmedhospital.com/department/pharmacy/การสังเกตยาเสื่อมสภาพ.html
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/ยาเสื่อมสภาพ-สังเกตได้อ/
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/knowledge/general/11092015-2303-th
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น