อาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษ ภาวะที่เกิดจากรับประทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเข้าไป ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องและท้องเสียถ่ายเหลวตามมา

นอกจากนี้อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ อาหารกระป๋อง อาหารทะเล นมที่ปนเปื้อนเชื้อหรือหมดอายุ อาหารค้างมื้อและไม่ได้แช่เย็น ถ้าไม่อุ่นให้เดือดทั่วถึงก่อนการรับประทาน ก็อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ 

สาเหตุของการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษ นั้นเกิดจากเชื้อโรคที่มีการปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำที่บริโภค โดยเชื้อสามารถผ่านมาทางผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อได้เป็นผู้ปรุงอาหารโดยไม่ได้ล้างมือทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อในอาหาร หรือเชื้อที่มีอยู่ในอาหารหรือน้ำที่ไม่ผ่านการทำความสะอาดหรือความร้อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้เชื้อยังสามารถส่งผ่านจากอาหารชนิดหนึ่งไปยังอีกชนิดหนึ่งผ่านทางอุปกรณ์ที่ใช้เช่น เขียงหรือมีด ที่ใช้ร่วมกันในการเตรียมอาหารก็ได้ รวมถึงการวางอาหารไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อ เป็นต้น

อาหารเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ

  1. อาหารสด สุกๆ ดิบๆ หรือผ่านความร้อนไม่เพียงพอ
  2. อาหารที่มีรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรือเค็มจัด
  3. อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง ที่พบว่ามีรอยบุบ รอยรั่ว หรือขึ้นสนิม
  4. อาหารที่ผลิตหรือปรุงไม่สะอาดเพียงพอ เช่น ใช้เขียงหั่นเนื้อสัตว์สดกับผักลวกร่วมกัน
  5. อาหารที่มีแมลงวันตอม
  6. อาหารที่ปรุงสุกตั้งแต่เช้า โดยไม่มีการอุ่นร้อน
  7. อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสมแล้วปรุงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง
  8. น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน

วิธีดูแลตนเองเมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษ 

ปกติสามารถหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยให้รักษาตามอาการคือ รับประทานเกลือแร่ทดแทนและยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน งดรับประทานอาหารประเภทนม ผลไม้ อาหารรสจัด อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารหมักดอง พักผ่อนให้มากขึ้น ดื่มน้ำมากๆ งดการทำกิจกรรมหนักๆ เช่น ออกกำลังกาย ทำงานบ้านหนักๆ ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์

การป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษ

การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลมีส่วนสำคัญในการป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษ ได้แก่ การล้างมือก่อนทานอาหาร และหลังการทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่างๆ เช่น เข้าห้องน้ำ สั่งน้ำมูก สัมผัสสัตว์ ทิ้งขยะ หรือ เปลี่ยนผ้าอ้อม นอกจากนี้หากท่านยังมีอาการเจ็บป่วยอยู่อาจมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่นในขณะที่ยังมีอาการเจ็บป่วย

สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร ได้แก่ หลีกเลี่ยงการดื่มนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรส์ ล้างผักและผลไม้ก่อนนำมารับประทานหรือประกอบอาหาร รักษาอุณภูมิของตู้เย็นให้ต่ำกว่า 4.4 C (40 F) และช่องแช่แข็งให้ต่ำกว่าระดับ -18 C (0 F) บริโภคอาหารที่ปรุงสุกในอุณหภูมิที่เหมาะสม ล้างมือรวมถึงอุปกรณ์ทำครัวต่าง ๆ หลังสัมผัสกับวัตถุดิบที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก


ข้อมูล
https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/food-poisoning
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/อันตรายร้ายแรงของอาหาร/

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 226
เดือนธันวาคม 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น