กัญชากับเด็ก

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย หลังประกาศใช้ พบว่ามีเด็กและวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อของกัญชาทั้งทางตรงและทางอ้อม 

กัญชาส่งผลกระทบที่รุนแรง โดยเฉพาะผลกระทบต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง และส่งผลกระทบต่อด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท ภาวะฆ่าตัวตาย เสี่ยงต่อการเกิดสารเสพติดชนิดอื่นๆ รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สารประกอบที่พบได้ในกัญชาคือ สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) ที่มีอยู่ 2 ชนิดสำคัญ คือสาร CBD (Cannabidiol) และสาร THC (Tetrahydrocannabinol)การออกฤทธิ์ที่ต่างกันของสาร CBD และ THC นี่เองที่จะกำหนดว่ากัญชาจะให้คุณหรือให้โทษกับร่างกายของคนเรา กล่าวคือ CBD สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดอาการปวด นอนหลับดีขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อจิตประสาท ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดและไม่ทำให้มึนเมา แต่ในทางกลับกัน THC จัดเป็นสารเมาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยสารนี้จะออกมาพร้อมกับสาร CBD ตอนสกัดกัญชา หากร่างกายได้รับสาร THC มากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายได้

ทั้งนี้ผลการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ร่างกายของคนเราสลายสาร THC ได้ยากกว่า ทำให้สาร THC ที่ส่งผลให้เกิดอาการมึนเมานั้นตกค้างในร่างกายได้ถึง 1-7 วันขึ้นอยู่กับปริมาณและความถี่ในการบริโภคสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ การสลายสาร THC ออกจากร่างกายอาจทำได้ยากกว่าผู้ใหญ่ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเสพติดสารดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อสติปัญญาและสุขภาพของวัยรุ่น

“สาร THC” เป็นสารเคมีในกัญชาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ส่งผลต่อสมองของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีในระยะยาว ทำให้มีปัญหาทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมา เช่น พัฒนาการลาช้า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเภท

ดังนั้นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ การบริโภคกัญชามีผลต่อสมอง และอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมองที่กำลังพัฒนา นอกจากนี้กัญชายังผลข้างเคียงระยะฉับพลันที่รุนแรง โดยแบ่งออกเป็น

  • อาการทางระบบประสาท: สับสน ซึม เวียนศีรษะ เดินเซ เห็นภาพหลอน ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก
  • อาการทางระบบหัวใจ: ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หน้ามืด/วูบ แน่นหน้าอก หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน

พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรปลูกฝังความคิดอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันลูก ไม่เพียงแต่จากกัญชา แต่ยังรวมถึง บุหรี่ ยาเสพติดและสิ่งไม่ดีอื่นๆ ที่ลูกต้องเผชิญในเส้นทางการเติบโต ผู้ใหญ่ที่คอยรับฟัง ไม่ด่วนตัดสิน และให้ความเชื่อมั่นในตัวเด็กๆ ว่าพวกเขามีคุณค่ามากพอ คือเกราะป้องกันภัยที่แข็งแรงที่สุด ที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ จะมอบให้กับเด็กๆ ได้


ข้อมูล
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังเ/
https://www.starfishlabz.com/blog/1298-กัญชากับวัยรุ่นเรื่องวุ่นๆ-ที่พ่อแม่ต้องระวัง
https://www.dcy.go.th/content/1639919903807/1659670197435
https://www.sikarin.com/health/กัญชา-กับผลกระทบต่อสมอ

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 226
เดือนธันวาคม 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น