กระชาย (Fingerroot) มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. จัดอยู่ในวงศ์ขิงข่า มีลักษณะเป็นเหง้าสั้น ลักษณะอวบน้ำ รูปทรงกระบอก ตรงกลางพองกว่าส่วนหัวและท้าย ผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลือง มีรสเผ็ดร้อน ขม กลิ่นหอมฉุน พบสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ และสารสำคัญในน้ำหอมระเหย เช่น โบเซนเบอร์จินเอ (Boesenbergin A), พินนอสตรอบิน (Pinostrobin), แคมเฟอร์ (Camphor), คาร์ดามอนิน (Cardamonin), และแพนดูเรทินเอ (Panduratin A) นอกจากนั้นยังพบว่ากระชายอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม เหล็ก วิตามินเอและบี
กระชายมี 3 ชนิด ชนิดที่ 1 คือ กระชายขาว กระชายเหลือง หรือเรียกว่า กระชายแกง ซึ่งเป็นกระชายที่ใช้ทำอาหารทั่วไป ชนิดที่ 2 คือ กระชายแดง เป็นสมุนไพรหายาก ส่วนใหญ่หมอยาพื้นบ้านใช้ในตำรับยารักษาโรคมะเร็งตามศาสตร์การแพทย์พื้นบ้าน และชนิดที่ 3 คือ กระชายดำ ส่วนใหญ่ใช้ทำยาอายุวัฒนะบำรุงสมรรถภาพทางเพศ
กระชายทั้ง 3 ชนิดเป็นสมุนไพรรสเผ็ดร้อนปร่า ซ่าๆ เวลากินเข้าไปจะรู้สึกชาปลายลิ้น มีคุณสมบัติขับลม กระจายเลือดลมได้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เวลาใครท้องอืด ท้องเฟ้อ
กระชายเหลืองเป็นกระชายชนิดเดียวกันกับกระชายขาว เนื่องจากมีฤทธิ์ร้อนและลักษณะที่คล้ายกัน คนไทยนิยมนำกระชายเหลืองมาเป็นส่วนผสมหลักในเครื่องแกงต่าง ๆ เพราะมีคุณสมบัติในการช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เนื้อปลาได้เป็นอย่างดี
การวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือกันของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ได้ศึกษาวิจัย “กระชายขาว” พบว่า สารสกัดจากกระชายขาว ซึ่งมีสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ Pandulatin A และ Pinostrobin สารทั้ง 2 ตัวในกระชายขาว สามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 ได้ ซึ่งสารทั้ง 2 ตัวนี้ สามารถลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อจาก 100% ให้ลดลงจนเหลือ 0% นอกจากนี้ ยังสามารถยับยั้งเซลล์ในการผลิตไวรัสได้ถึง 100% อีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังอยู่ในช่วงการทดสอบ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพกับคนใช้มากที่สุด
ข้อควรระวัง หากมีการรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป กระชายจะทำให้เลือดหนืด อาจส่งผลให้รู้สึกหมดแรง และป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ตามมาได้
กระชายดำ เป็นหนึ่งในสี่ของสมุนไพรที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและภาคีเครือข่ายคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือสมุนไพรต้นแบบ เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงในเชิงพาณิชย์ ได้รับความนิยมเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
กระชายดำ หรือ โสมไทย มักจะถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในยารักษาโรค โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย เนื่องจากมีฤทธิ์ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ส่งให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้มากขึ้น และในผู้หญิงยังช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติอีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับฤทธิ์ทางชีวภาพและเภสัชวิทยาของกระชายดำ พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเหง้ามีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของสัตว์ทดลองดีขึ้น และมีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์โดยเพิ่มน้ำหนักของท่อพักเชื้ออสุจิ ถุงน้ำอสุจิ ต่อมลูกหมาก และกล้ามเนื้อก้นของหนู
ข้อควรระวัง การบริโภคกระชายดำเป็นอาหารในปริมาณและวิธีที่เหมาะสม อาจไม่ทำให้เกิดอันตรายสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคยา หรือสารสกัดจากกระชายดำ เพราะอาจเกิดปฏิกิริยากับยารักษาบางชนิด และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคได้
กระชายแดง มีสีเหลืองคล้ายกับกระชายเหลือง แต่กระชายแดงจะมีสีเหลืองออกสีแกมส้มมากกว่า คุณประโยชน์และสรรพคุณของกระชายแดง ช่วยบำรุงกำลังทำให้กระชุ่มกระชวย บำรุงระบบประสาท บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อแก้ลมจุกเสียด ใช้เป็นยายาอายุวัฒนะ ช่วยแก้โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ด้วยการใช้หัวตากแห้ง นำมาบดละเอียดละลายผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนกินประจำก่อนอาหารเช้า-เย็น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น