ขยะอาหาร

Food waste เกิดขึ้นแทบจะในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต ขนส่ง และจัดจำหน่าย ตั้งแต่ผลผลิตบางส่วนที่ถูกทิ้งไว้ในไร่เพาะปลูก อาหารที่เน่าเสียระหว่างการขนส่ง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผู้ขายไม่เลือกนำไปจัดวางเพื่อจำหน่ายเนื่องจากมีตำหนิหรือมีรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้มาตรฐานตามที่ตั้งไว้ เศษวัตถุดิบที่ถูกคัดออกระหว่างการปรุงอาหาร เศษอาหารที่ถูกทิ้งเหลือไว้บนจาน และอาหารหมดอายุหรือเน่าเสียในตู้เย็น ซึ่งมีที่มาจากการกักตุนอาหารมากเกินความจำเป็น 

อาหารที่สูญเสียไปอย่าเปล่าประโยชน์ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษมีมากถึง 17 ล้านตัน สหรัฐอเมริกาเองก็มีทิ้งอาหาร 34 ล้านตัน กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปมีปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งกว่า 90 ล้านตัน/ปี หลายประเทศประสบปัญหาอาหารเหลือทิ้ง และพบด้วยว่าปัญหานี้เริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกที

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่ามีอาหารที่ถูกทิ้งเป็นขยะอาหารประมาณ 1.6 พันล้านตันต่อปี แต่ในเวลาเดียวกันกลับมีผู้คนทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับความหิวโหยถึง 870 ล้านคน 

ข้อมูลจาก Waste & Resources Action Programme (WRAP) องค์กรจากสหราชอาณาจักรที่รณรงค์เรื่องการกำจัดขยะเพื่อความยั่งยืนบอกไว้ว่า หากเรานำเอา “ขยะอาหาร” ทั้งหมดออกจากพื้นที่ฝังกลบในสหราชอาณาจักร ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะลดลงเป็นจำนวนมาก เท่ากับการนำเอารถยนต์จำนวน 1 ใน 5 ของรถทั้งหมดในประเทศออกจากถนน

ส่วนในกรุงเทพฯ “ขยะอาหาร” มีปริมาณมากถึง 64% ของขยะทั้งหมด แต่เพราะไม่มีการแยกทิ้งขยะตามประเภทที่ถูกสุขลักษณะดีพอ ทำให้ในจำนวนนั้นมีเพียง 2% เท่านั้นที่สามารถนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีได้ ส่วนขยะที่เหลือจะถูกนำไปฝังกลบ

ความนิยมในอาหารไทยที่เพิ่มขึ้นทำให้อาหารไทยหลายเมนูติดอันดับเมนูยอดนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น แม้จะส่งผลดีต่อภาพรวมของธุรกิจอาหาร ตั้งแต่สตรีทฟู้ดไปจนถึงระดับอุตสาหกรรม แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ขยะอาหารที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น Food Waste เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันทั้งระบบห่วงโซ่อาหาร ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ร่วมกัน

ผู้ผลิต ต้องหาแนวทางแก้ไขเพื่อลดการสูญเสีย เช่น การมีระบบการผลิตที่ดีมีคุณภาพที่ช่วยลดการสูญเสียอาหาร และสำหรับผู้บริโภค ต้องใส่ใจข้อมูลการนำเสนอของผู้ผลิตมากขึ้น เช่น ดูวันหมดอายุ และวางแผนการบริโภค เลือกซื้ออาหารที่มีระยะเวลาก่อนหมดอายุที่เหมาะสมกับแผนการบริโภค โดยเฉพาะ ธุรกิจบุฟเฟต์ ที่สร้างความเคยชินกับพฤติกรรมที่ทำให้เกิดขยะอาหาร จากการเตรียมอาหารปริมาณมากเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่มากเกินความต้องการ และเหลือทิ้งในที่สุด

กรณีศึกษาเกี่ยวกับ Food Waste ในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศสมีกฎหมายการจัดการอาหารส่วนเกินจากกระบวนการการค้าปลีก มีมาตรการกฎหมายสร้างแรงจูงใจทางภาษี เช่น ลดภาษีถ้าผู้ผลิตสามารถลดปริมาณ Food Waste ญี่ปุ่นมีการสร้างสรรค์เมนูอาหารด้วยหลัก ‘ครีเอทีฟเมนู’  นำของเหลือในตู้เย็นหรืออาหารที่ทานไม่หมด จนเป็นเกิดกระแสและแบ่งปันวิธีการที่น่าสนใจอย่างแพร่หลาย สิงคโปร์มีแนวคิดการนำ ‘อาหารป้ายเหลือง’ ไปแจกในชุมชนที่อยู่อาศัย ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงวัตถุดิบที่ตกมาตรฐานร้านค้าพรีเมียม เป็นต้น


ข้อมูล
https://hhcthailand.com/8-ways-to-reduce-food-waste/
https://www.thairath.co.th/money/sustainability/esg_strategy/2698866
https://www.sgethai.com/article/มลพิษจากอาหารเหลือ/
https://theactive.net/news/climatechange-20220327/


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 227
เดือนมกราคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น