โครงการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน ภายใต้สโลแกน “เลิกบุหรี่บ้านละคน” เริ่มต้นการทำงานโดยอ้างอิงงานวิจัยจากข้อมูลครัวเรือนของมุสลิมในประเทศไทย โดยจะเน้นบทบาทของครอบครัว ในการควบคุมการบริโภคบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ๆ เพื่อให้ไทยสามารถเลิกบุหรี่ได้ เริ่มจากภรรยาเกลี้ยกล่อมให้สามีหรือ ลูกๆ เกลี้ยกล่อมพ่อให้เลิกสูบบุหรี่ จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จะมีผู้เลิกบุหรี่ได้เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สามารถลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน และลดภาระค่ารักษาพยาบาลของรัฐบาลนับพันล้านบาท
“เลิกบุหรี่บ้านละคน” ไม่ได้หมายความว่า สสม.ต้องการให้มุสลิมเลิกบุหรี่แค่บ้านละคนเท่านั้น แต่จากจุดเริ่มต้น ถ้ามุสลิมไทยทุกบ้านสามารถเลิกบุหรี่บ้านละคนได้ จะเป็นแรงจูงใจให้สมาชิกคนอื่นในบ้านเลิกบุหรี่ได้ เช่น ถ้าคุณพ่อเลิกบุหรี่ได้ 1 คน จะสามารถขยายผลไปสู่ผู้ที่สูบบุหรี่ เช่น ลูก หรือสมาชิกในบ้านคนอื่น ๆ และเพื่อนบ้านต่อไป
การดำเนินงานโครงการเลิกบุหรี่ที่บ้าน เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2558 ยึดแนวทางในการดำเนินงานโดยใช้บ้านเป็นจุดเริ่มต้นผ่านเครือข่ายอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ เป็นแกนนำที่คอยให้คำปรึกษาและกระตุ้นคนในบ้านผ่านภรรยาและบุตร (โดยเฉพาะบุตรสาว) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คนในบ้านเลิกสูบ ที่ผ่านมาได้คัดเลือกอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ในพื้นที่ก่อน และมอบหมายงานให้แต่ละคนรับผิดชอบในการดูแลบ้านที่มีการสูบบุหรี่อย่างน้อยบ้านละ 1 คน ในพื้นที่รับผิดชอบ 5 บ้านต่อคน ซึ่งต้องบันทึกความเคลื่อนไหวของกลุ่มเป้าหมายทุก ๆ เดือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของแต่ละคน จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานรณรงค์ให้ความรู้และส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ผ่านกลุ่มอาสาสมัครฯ และส่งต่อไปยังคนในครอบครัว (ภรรยาและบุตร) โดยเฉพาะบุตรสาว ส่งผลให้คนในครอบครัวตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ กระตือรือร้นที่จะช่วยกันรณรงค์เรื่องบุหรี่กับคนในบ้านและคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในหลายพื้นที่สามารถทำให้กลุ่มเป้าหมายเลิกสูบบุหรี่ได้หลายบ้าน โดยพบว่ามีผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ใน 9 ปี (2558 - ปัจจุบัน) กว่า 402 คน และอยู่ในกระบวนการของการเลิกบุหรี่อีกกว่า 751 คน อีกทั้งต้นแบบครอบครัวเลิกบุหรี่ อีกจำนวน 233 ครอบครัว
ปัจจุบันได้ต่อยอดเป็นโครงการเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน มีการยกระดับการทำงานให้ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้นโดยการพัฒนาเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน ซึ่งยังคงเน้นบทบาทของภรรยาและบุตรสาว โดยสามารถขยายผลการทำงานโดยการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายระดับพื้นที่ เพื่อสืบทอดงานเลิกบุหรี่บ้านละคนให้เกิดความยั่งยืน โดยมีคณะทำงานควบคุมการบริโภคยาสูบชุมชน ในพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย 1) ชมรมมุสลิมะห์ 2) อาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ 3) ผู้นำศาสนา 4) หน่วยงานส่วนท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และ 5) หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เขตการศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนมัธยม เป็นต้น
โดยจะบูรณาการการทำงานร่วมกันและสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย ให้รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของผลิตภัณฑ์ยาสูบที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน เช่น ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนนักสูบหน้าใหม่ และส่งต่อข้อมูลไปยังภรรยาและสมาชิกอื่นในครอบครัว
ภาพบรรยากาศการลงติดตามและจัดกิจกรรมของทีมอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ในพื้นที่
ภาพบรรยากาศ สสม.ลงเยี่ยมเครือข่าย
ภาพบรรยากาศทีมงาน
สสม. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการจัดกิจกรรมของเครือข่าย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น