รู้หรือไม่..การนั่งนานก็มีอันตราย?

ในชีวิตประจำวัน 24 ชั่วโมงเราใช้การนั่งมากที่สุดก็ว่าได้ เช่น การนั่งทำงาน นั่งดูทีวี นั่งเล่นโทรศัพท์ นั่งทานอาหาร ฯลฯ ซึ่งหลายครั้ง หลายคนก็นั่งผิดท่าทาง นั่งหลังงอ ตัวเอียง โดยจากงานวิจัยพบว่าผู้หญิงมีอัตราเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย 

เหตุใดการนั่งถึงสร้างอาการปวดเมื่อยให้แก่ร่างกายได้ เพราะเมื่อเวลาที่เรา “นั่ง” ระบบย่อยอาหารจะทำงานช้าลง ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ท้องผูก จุก ท้องอืด เป็นตะคริว อวัยวะภายในเสี่ยงอันตราย เช่น หัวใจ เพราะการนั่งทำให้เลือดไหลเวียนช้าลง กล้ามเนื้อเผาผลาญไขมันได้น้อยลง คอและไหล่ตึง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด ยาวไปถึงกล้ามเนื้ออาจเสื่อมสภาพได้ ดังนั้นหากเรานั่งทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งเอียงตัวไปข้างใดข้างหนึ่ง นั่งไขว่ห้าง หรือนั่งโดยเท้าทั้ง 2 ข้างวางไม่ถึงพื้น นอกจากจะมีการกดทับเส้นเลือดบางส่วนไม่เท่ากัน ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีแล้ว การที่นั่งเป็นเวลานานจะส่งผลให้ขาดแรงบีบอัดจากกล้ามเนื้อ เพื่อส่งเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ ร่างกายจึงมีการไหลเวียนโลหิตไม่เพียงพอ

American Journal of Epidemiology รายงานว่า ผู้ที่ต้องนั่งทำงานทั้งวันเป็นเวลานานเกินกว่า 10 ปี มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าตัว แล้วยังมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นอีก 30% 
สำหรับผู้ที่นั่งนานติดต่อกันวันละ 7 ชั่วโมงขึ้นไป มีโอกาสได้ลุกเดินเพียงแค่เข้าห้องน้ำหรือทานข้าวกลางวันเท่านั้น พฤติกรรมดังกล่าวมีผลวิจัยออกมาแล้วว่ามีความเสี่ยงทำให้ป่วยเป็นโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้แก่ มะเร็ง เบาหวาน ความดัน ไขข้อ ระบบประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือด ไมเกรน
เว็บไซต์ อาซาฮี ชิมบุน รายงานว่า การศึกษาล่าสุดพบว่าการนั่งเป็นเวลานานส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ลดพฤติกรรมอยู่ประจำที่

การนั่งมากกว่าเจ็ดชั่วโมงต่อวันเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงได้เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จังหวัดเกียวโตและองค์กรอื่น ๆ สรุปว่าการขาดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อจากการนั่ง อาจทำให้การไหลเวียนโลหิตผิดปกติ 

ผลการวิจัยพบว่าผู้หญิงที่นั่งเกินเจ็ดชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่นั่งน้อยกว่าถึง 36 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นเพื่อป้องกันอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง และโรคที่จะตามมา นอกจากการปรับท่าทางการนั่งให้มีความสมดุลกันทั้ง 2 ข้างแล้ว การลุกขึ้นยืนบ่อย ๆ จะช่วยลดการกดทับส่วนต่าง ๆ และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดได้ดีขึ้น ดังนั้นเราจึงควรลุกขึ้นอย่างน้อยชั่วโมงละครั้ง โดยแต่ละครั้งควรมีการยืดกล้ามเนื้อเป็นเวลา 5 นาที หรืออย่างน้อยที่สุดคือ “การลุกขึ้น” หรือ เปลี่ยนอิริยาบถทุกชั่วโมงจะช่วยลดอาการปวดส่วนต่าง ๆ และลดการเสี่ยงโรคอื่น ๆ ตามมา เพื่อการมีสุขภาพที่ดี และฝ่าวิกฤติไปได้อย่างมีความสุข

ข้อมูล
https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/ -นั่งติดเก้าอี้--พฤติกรรมเสี่ยงโรค--ของมนุษย์ออฟฟิศ
https://www.asahi.com/ajw/articles/15084702
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/07/154103/


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 227
เดือนมกราคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น