WHO ออกแถลงการณ์ให้มีมาตรการเข้มงวด "บุหรี่ไฟฟ้า" ภัยคุกคามเด็ก-เยาวชน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 ธ.ค. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ นพ.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr.Jos Vandelar) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาการแถลงการณ์องค์การอนามัยโลก เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าภัยคุกคามต่อเด็กและเยาวชน ข้อเสนอมาตรการในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ได้ออกแถลงการณ์ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อปกป้องสุขภาพของเด็กและผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และลดอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อสุขภาพของประชาชน ได้แก่ 

1. ประเทศที่มีการห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้า ให้ดำเนินมาตรการห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้าและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด  โดยให้ติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างทันท่วงที 

2. ประเทศที่อนุญาตให้มีการค้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้า (การขาย การนำเข้า การจัดจำหน่าย และการผลิต) ควรกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อลดความน่าดึงดูดและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อประชากร รวมถึงการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแต่งรสชาติทั้งหมด จำกัดความเข้มข้นและคุณภาพของนิโคติน และบังคับใช้มาตรการภาษีอย่างเข้มงวด   

นพ.จอส กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกยังออกคำเตือน ไม่แนะนำให้รัฐบาลทุกประเทศอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ ส่วนประเทศที่ดำเนินยุทธศาสตร์การเลิกบุหรี่โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้าควรควบคุมเงื่อนไขในการเข้าถึง เพื่อให้มั่นใจว่ามีข้อบ่งชี้ทางคลินิกที่เหมาะสม และต้องควบคุมเป็นผลิตภัณฑ์โดยได้รับอนุญาตทางการค้าระบุเป็นยาเท่านั้น

บุหรี่ไฟฟ้านั้นเสพติด อันตราย และไม่ปลอดภัย ก่อให้เกิดสารพิษซึ่งบางชนิดก่อให้เกิดมะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติของปอด หากสูดดมควันจะได้รับพิษจากนิโคติน ส่งผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กยังส่งผลต่อการพัฒนาของสมองและการเรียนรู้ แม้แต่การได้รับควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสองก็ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ ในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกทำการตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน ในบางประเทศพบว่า เด็กวัยรุ่นใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าผู้ใหญ่

จากการสำรวจภาวะสุขภาพของนักเรียนในประเทศไทย พบว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 8.1 ในปี 2564 นี่คือ อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กที่อายุ 13-15 ปีเท่านั้น เด็กเหล่านี้นอกจากจะเสพติดนิโคตินแล้ว ยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3 เท่าที่จะกลายเป็นผู้สูบบุหรี่มวนต่อไปในอนาคตด้วย

จุดยืนขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้า เช่นเดียวกับอีก 34 ประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลก สนับสนุนรัฐบาลไทยในการดำเนินนโยบายดังกล่าว บุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรอยู่ในสังคม รัฐบาลควรคงมาตรการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องให้ผ่อนปรนกฎระเบียบนี้


ที่มา
https://www.hfocus.org/content/2023/12/29280

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 227
เดือนมกราคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น