ปัญหาผู้สูงอายุในญี่ปุ่น

รายงานของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ระบุว่า พลเมืองญี่ปุ่นอายุ 100 ปีขึ้นไปจำนวน 90,526 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนหน้าและมากกว่า 5 เท่าของจำนวนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว 

สังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันจึงเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำงานได้ จึงเกิดการขาดแคลนแรงงานวัยรุ่นและวัยกลางคนที่เป็นผลจากอัตราการเกิดที่ต่ำลง หากเป็นแบบนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบทั้งในแง่การผลิต การขาย การบริการ ปัญหาด้านสวัสดิการรัฐ และเงินบำนาญที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้จากภาษีที่น้อยลง รวมถึงปัญหาด้านสาธารณสุขและการให้บริการด้านการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ

ปัญหาของญี่ปุ่นไม่ได้หยุดเพียงแค่ประชากรเกิดใหม่ลดลงเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาที่ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งจากครอบครัว ด้วยเพราะคนญี่ปุ่นต้องทำงานหนัก มีวินัย และใช้ชีวิตอยู่กับงานมากกว่าครอบครัว  ส่งผลทำให้คนญี่ปุ่นได้ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวอยู่คนเดียวและเหงามากขึ้น 

ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับคดีอาชญากรรมโดยผู้สูงอายุ โดยสัดส่วนอาชญากรรมที่กระทำโดยผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาทั่วประเทศ ด้วยสาเหตุที่ว่า ผู้สูงอายุบางคนที่ต้องเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก บางคนไม่มีครอบครัวใกล้ชิด การอยู่คนเดียวและการเสียชีวิตเพียงลำพังอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัว เป็นเหตุให้พวกเขาจงใจฝ่าฝืนกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อได้รับโทษจำคุก เพราะพวกเขาจะได้รับการดูแลและมีเพื่อนเมื่อพวกเขาถูกขังอยู่ในคุก

สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ โดยมากกว่าหนึ่งในสามของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป กว่า 2,500 คนถูกตัดสินลงโทษในปี 2559 โดยเคยมีการพิพากษาลงโทษมาแล้วมากกว่าห้าครั้ง พวกเขายอมทำความผิดเล็กน้อยเพื่อถูกจำคุกสองสามเดือน โดยที่พวกเขาจะได้รับการดูแล และไม่สร้างภาระให้ครอบครัว

BBC ได้สัมภาษณ์ โทชิโอะ ทากาตะ ชายวัย 69 ปี ถึงสาเหตุที่พวกเขาทำผิดซ้ำซาก เขาบอกว่า เขาทำผิดกฎหมายเพราะเขายากจน เขาต้องการอยู่ที่ไหนสักแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะเป็นหลังลูกกรงก็ตาม

สำหรับ เคโกะ (นามสมมุติ) หญิงอายุ 70 ปี บอกแก่ผู้สื่อข่าว BBC ว่า “ฉันไม่สามารถเข้ากับสามีได้ ฉันไม่มีที่อยู่และไม่มีกิน ดังนั้นการขโมยจึงกลายเป็นทางเลือกเดียวของฉัน”

การกระทำผิดซ้ำเป็นวิธีการ "กลับเข้าคุก" ซึ่งมีอาหารฟรีสามมื้อต่อวัน เมื่อผู้ต้องขังสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น เรือนจำหลายแห่งได้กลายเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องแบกรับปัญหามากขึ้น และทำให้ลูกจ้างจำนวนมากต้องลาออก ปัญหาดังกล่าวนี้ยิ่งกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติมากขึ้นไปอีก

คาวาอิ มาซาชิ (Kawai Masashi) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านประชากรของญี่ปุ่น เคยตั้งสมมติฐานว่า หากญี่ปุ่นยังคงเป็นสังคมสูงอายุที่ไม่มีอัตราการเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ภายในปี 2033 บ้านตามชนบทกว่า 1 ใน 3 จะกลายเป็นบ้านร้างไม่มีผู้อยู่อาศัย ในปี 2042 จำนวนผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจะเพิ่มสูงที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และภายในปี 2065 ประชากรจะลดลงเหลือ 88 ล้านคน ก่อนจะลดลงอีกจนภายในปี 2115 จะมีประชากรญี่ปุ่นเพียง 50 ล้านคน


ข้อมู
https://www.nippon.com/en/features/h00195/
https://www.unilad.com/news/crime-rates-rising-elderly-japan-567783-20230226
https://www.bbc.com/news/stories-47033704
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-09-16/number-of-centenarians-in-japan-grows-by-five-times-in-20-years
https://themomentum.co/report-japan-agi
ng-society/

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 228
เดือนกุมภาพันธ์ 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น