เตยหอม

เตยหอม (Pandanus Palm) ชื่อท้องถิ่น ใบเตย , เตยหอม , ต้นเตย , เตยหอมใหญ่ , เตยหอมเล็ก (ภาคกลาง), หวานข้าวใหม่ (ภาคเหนือ) , ปาแนะวอวิง , ปาแง๊ะออริง (นราธิวาส,มาเลเซีย) ,พังลั้ง (จีน) เป็นพืชสีเขียวใบเรียวที่มีกลิ่นหอม มากด้วยสรรพคุณทางยาและมีคุณค่าในการนำมาผสมกับอาหารสร้างสีสันให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น 

เตยหอม มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาทิ ไทย พม่า ลาว มาเลเซีย และประเทศอินเดีย รวมถึงทวีปอื่น เช่น แอฟริกา และออสเตรเลีย 

เตยหอมเป็นต้นไม้ประเภทกอ มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียวยาว สีเขียวเข้ม ใบค่อนข้างแข็ง เป็นมัน เรียงสลับเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอดต้น ต้นเตยปลูกง่าย ปลูกครั้งเดียวก็เก็บใบมาใช้ได้ตลอดทั้งปี ชอบขึ้นตามพื้นที่ชุ่ม ริมลำน้ำหรือบริเวณที่ชื้นแฉะที่มีน้ำขังเล็กน้อย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

เตยหอมมีใบที่ให้กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหย (Fragrant Screw Pine) สารที่ทำให้มีกลิ่นหอมคือคูมาริน (Coumarin) และเอทิลวานิลลิน (Ethyl vanillin) ใบสีเขียวเข้ม เพราะมีสารคลอโรฟิลล์หนาแน่น จึงคั้นออกมาเป็นน้ำสีเขียวสดข้นสวย ใช้แต่งสีแต่งกลิ่นขนมจำนวนมาก เช่น วุ้นใบเตย ลอดช่องใบเตย ขนมชั้นใบเตย ข้าวเหนียวมูนใบเตย เป็นต้น ส่วนอาหารคาวใช้น้อย แต่ก็มีใช้บ้าง เช่น ไก่ห่อใบเตย ข้าวหุงกับใบเตย ข้าวต้มใบเตย เป็นต้น เตยหอมนอกจากจะมีบทบาทกับอาหารการกินหลากหลายชนิดแล้ว ผู้คนยังนิยมนำใบเตยสด ๆ ทั้งกอวางไว้ในรถให้มีกลิ่นหอมสดชื่น ใบแห้งนำไปหั่นเอาไปชงชาได้อีก

ประโยชน์ทางสมุนไพรของเตยหอม 

  • ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ โดยใช้ใบสดผสมในอาหาร แล้วรับประทาน หรือนำใบสดมาคั้นน้ำรับประทาน ครั้งละ 2-4 ช้อนแกง
  • ช่วยดับกระหาย นำใบเตยสดมาล้างให้สะอาด นำมาตำหรือปั่นให้ละเอียด แล้วเติมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาแต่น้ำดื่ม
  • รักษาโรคหัดหรือโรคผิวหนัง โดยนำใบเตยมาตำแล้วมาพอกบนผิว
  • ใช้รักษาโรคเบาหวาน ใช้ราก 1 กำมือนำไปต้มเป็นน้ำดื่ม ทุกเช้า-เย็น
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยการนำต้นเตยหอม 1 ต้น หรือราก ครึ่งกำมือไปต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ใบมาหั่นตากแดดให้แห้งแล้วชงดื่มแบบชาเขียวก็ได้
  • ใช้บำรุงผิวหน้า โดยการใช้ใบเตยล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาปั่นรวมกับน้ำสะอาดจนละเอียด จะได้ครีมข้นเหนียวแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที
การศึกษาทางพิษวิทยา จากการสืบค้นข้อมูลในขณะนี้ ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษหรืออาการไม่พึงประสงค์จากการรับประทานเตยหอม

ข้อควรระวัง 

  • ถึงแม้ว่าเตยหอมจะเป็นพืชจากธรรมชาติ แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมและไม่บริโภคเป็นระยะเวลานานจนเกินไป
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญก่อนบริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆจากเตยหอม เพราะสารเคมีในเตยหอมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
  • ในขั้นตอนการเตรียมการใช้เตยหอมด้วยตนเองควรล้างทำความสะอาดใบเตยอย่างดีอย่าให้มีสิ่งแปลกปลอมปนไป เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้


ข้อมูล
https://www.disthai.com/17040525/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A2
https://krua.co/food_story/pandanus-palm


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 228
เดือนกุมภาพันธ์ 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น