สถานการณ์เด็กและเยาวชนที่เสนอผ่านสื่อต่าง ๆ บ่งบอกว่าเยาวชนไทยมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงและสภาวะจิตเบี่ยงเบนเพิ่มขึ้น มีระดับไอคิว อีคิว ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และการดื่มแอลกอฮอล์อันส่งผลเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น ก่ออาชญากรรม เล่นการพนัน การเสพสิ่งเสพติด การเสพสื่อลามก การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การติดเชื้อเอดส์ รวมถึงการมีปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาการปรับตัว และมีแนวโน้มเกิดกับเด็กที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ
เหตุการณ์ที่น่าตกใจสำหรับสังคมไทยน่าจะหนีไม่พ้น กรณีวัยรุ่นชายอายุ 14 ปีก่อเหตุกราดยิงในห้างแห่งหนึ่ง เป็นข่าวที่สะเทือนใจผู้คนในสังคมมาก และมากขึ้นกับกรณีกลุ่มวัยรุนอายุต่ำสุด 13 ปีไล่ล่าทำร้ายหญิงไร้บ้านจนเสียชีวิต และถึงทุกวันนี้ข่าวทำนองนี้ดูเหมือนจะไม่เบาลง
เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมผู้ก่อคดีร้ายแรงจึงอายุน้อยลงทุกที
พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงของวัยรุ่นไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงประการเดียว แต่มักเกิดจากปัจจัยหลายประการที่ซับซ้อน และมีผลกระทบต่อกันอย่างต่อเนื่อง
หลายคนบอกว่าเป็นเพราะการอบรมสั่งสอนจากครอบครัว หรือว่าเป็นเพราะพฤติกรรมตามวัย เรียกร้องอยากได้รับความสนใจ ถ้าเปรียบกับเด็กที่ริสูบบุหรี่มวนแรกก็เพราะอยากลอง และอยากเป็นที่ยอมรับ หรือเหล่าสิงห์มอเตอร์ไซค์ที่ชอบโชว์เสียว ชอบแว้นหนีตำรวจ เพียงเพื่อนำมาคุยอวดเพื่อนในกลุ่มว่า “กูแน่”
หลายคนก็บอกว่าเป็นเพราะสภาพแวดล้อม สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการใช้อำนาจและแสดงอำนาจ ยกตัวอย่างครูที่ทำโทษนักเรียนด้วยการใช้เข็มกลัดแทงปากเด็กนักเรียนทั้งห้อง สะท้อนความเคยชินกับอำนาจนิยม กระทำโดยขาดการไตร่ตรอง เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิมีอำนาจที่จะกระทำได้
วัยรุ่นที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวมักขาดทักษะชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการแก้ไขความขัดแย้ง ทักษะการพูดแสดงอารมณ์และความต้องการของตนเอง ทักษะการจัดการกับอารมณ์ ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
เราจะหยุดความรุนแรงได้อย่างไร?
เริ่มด้วยทุกฝ่ายควรทำไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู ก็ต้องคอยพูดคุยกับเด็ก รับฟังปัญหา ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา พ่อแม่ และครู ก็ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเสียเอง เพื่อตัวเด็กจะได้ไม่เลียนแบบและกลายเป็นเด็กมีปัญหา
ผู้ออกกฎหมาย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษากฎหมาย ก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่เด็ดขาดเป็นธรรมในการลดปัญหาเด็กและเยาวชนที่ใช้อาวุธ ยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง
สื่อมวลชนเอง ก็ควรที่จะลดการนำเสนอภาพการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา และชุมชน แต่ควรมุ่งเน้นการนำเสนอสาระของเหตุการณ์ และข้อคิด เพื่อเตือนให้สังคมเกิดความตระหนักในปัญหาการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเด็กเยาวชน
รัฐบาล ก็ต้องเข้ามาร่วมสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่เข้ามาแสดงบทบาทตามกระแส พอเรื่องคลี่คลายก็หายเงียบไป มีคนกล่าวว่า รัฐบาลรณรงค์เรื่องบุหรี่จนคนอายที่จะสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบได้ ทำไมไม่รณรงค์ให้ผู้คนไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรงบ้าง
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น