โดยหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม “ซะกาต” คือทานภาคบังคับ เป็นทรัพย์จำนวนหนึ่งที่ได้กำหนดไว้เป็นอัตราส่วนของจำนวนทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์มีอยู่ครบพิกัดตามที่ศาสนาได้บัญญัติไว้ และให้นำทรัพย์จำนวนนั้นจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิรับซะกาต การจ่ายซะกาต จึงเป็นช่องทางถ่ายโอนความมั่งคั่งจากผู้ที่มีรายได้และทรัพย์สินเกินพิกัด ให้แก่ผู้มีสิทธิรับซะกาต 8 ประเภท เป็นกลไกที่ช่วยลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้และบรรเทาหรือขจัดปัญหาความยากจนไปพร้อม ๆ กัน แต่ด้วยสาเหตุบางประการ กลไกนี้ในประเทศไทยยังดำเนินการได้ไม่เต็มศักยภาพ
การพัฒนากองทุนซะกาตผ่านการสร้างเครือข่ายเป็นช่องทางที่ สสม. ดำเนินการมาแล้วในสามระดับ คือ “ระดับชาติ” ด้วยการเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต “ระดับชุมชน” ด้วยการจัดกระบวนการจัดตั้งและพัฒนากองทุนซะกาตในพื้นที่ที่เป็นเครือข่าย และ “ระดับภาค” ด้วยการสรรหาองค์กรพันธมิตรร่วมเป็นเจ้าภาพในการพัฒนากองทุนซะกาตในระดับจังหวัดหรือกลุ่มอำเภอ
การดำเนินงานในระดับชาติแม้ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง แต่ก็เป็นต้นแบบให้บางองค์กรนำไปผลักดันกองทุนซะกาตในชุมชน การดำเนินงานระดับชุมชนถือว่าประสบความสำเร็จแต่ต้องใช้เวลายาวนานกว่าชุมชนมุสลิมทั่วประเทศจะมีกองทุนซะกาตที่บริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ครอบคลุมทั้งซะกาตอาหาร (ฟิตเราะห์) และซะกาตทรัพย์สิน
กองทุนซะกาตระดับภาคจึงเป็นช่องทางใหม่ เริ่มจากการคัดสรรองค์กรพันธมิตรที่มีศักยภาพ ร่วมเป็นเจ้าภาพในการพัฒนากองทุนซะกาตในระดับจังหวัดหรือกลุ่มอำเภอ เริ่มดำเนินงานในระยะเวลาสั้น ๆ ในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ด้วยการสรรหา 4 องค์กรพันธมิตรใน 4 จังหวัด ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จในระยะฟักตัว สามารถดำเนินงาน เกิดกองทุนซะกาตในเครือข่ายขึ้น 36 กองทุน ซึ่งยังต้องการเวลาอีกระยะหนึ่ง ที่จะบ่มเพาะให้กองทุนซะกาตในเครือข่ายนี้เติบใหญ่และเข้มแข็งขึ้น พร้อม ๆ กับการสรรหาองค์กรพันธมิตรเพิ่ม เพื่อที่จะร่วมดำเนินงานในจังหวัดอื่นเป็นการขยายผลต่อไป
การดำเนินงาน “โครงการเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับภูมิภาค” ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย ได้มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายและการพัฒนาองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรพันธมิตร (เดิม) และเพิ่มองค์กรพันธมิตร (ใหม่) ด้วยกลไกการจัดการระบบซะกาตที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้เกิดการบูรณาการ การขับเคลื่อนกองทุนระหว่างองค์กรศาสนาและองค์กรภาคประชาสังคม ที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน รวมถึงการต่อยอดการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการกองทุนซะกาต ให้สามารถดำเนินการจัดเก็บ และแจกจ่ายซะกาต ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของมุสลิมไทยในระดับภูมิภาคในระยะต่อไป
1 ปี ที่ผ่านมา มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) ได้สนับสนุนองค์กรพันธมิตร 4 แห่ง ในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ (1) สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.ปัตตานี (2) สมาพันธ์ผู้บริหารมัสยิด 4 อำเภอ จ.สงขลา (3) ชมรมมุสลิมสัมพันธ์ตรัง จ.ตรัง และ (4) คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดระนอง ร่วมเป็นแกนหลักในการสร้างเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับภูมิภาคที่บูรณาการการทำงานร่วมกัน และเปิดโอกาสให้ต้นแบบกองทุนซะกาต สสม. ในพื้นที่อื่น ที่ประสบความสำเร็จมาถ่ายทอดแนวทางการบริหารจัดการกองทุนซะกาตให้กับองค์กรพันธมิตรทั้ง 4 แห่ง เพื่อนำแนวคิดไปขับเคลื่อนกองทุนซะกาตในระดับชุมชนต่อไป
การดำเนินงานนี้สามารถสร้างภาคีเครือข่ายกองทุนซะกาตได้ จำนวน 36 แห่ง ที่มีการบริหารจัดการกองทุนอย่างเป็นระบบ สามารถจัดเก็บรวมรวมซะกาต และนำมาแจกจ่ายแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาตได้ตรงตามเป้าหมาย รวมทั้งมีการถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางในการขยายเครือข่ายให้กว้างมากยิ่งขึ้นต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงานซะกาตตามแผนงานฯ สสม. จึงจะพัฒนาต่อยอดเครือข่ายกองทุนซะกาต (เดิม) และขยายผลเครือข่ายกองทุนซะกาต (ใหม่) เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ จ.นราธิวาส จ.สตูล จ.กระบี่ รวมเครือข่ายกองทุนซะกาต จำนวน 27 แห่ง ผ่านการทำงานร่วมกับองค์กรศาสนา องค์กรมุสลิม องค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งการจัดกระบวนการในการพัฒนาศักยภาพภาคีกองทุนซะกาตเดิมและการติดตามผล ด้วยกลไกการจัดการระบบซะกาต เพื่อยกระดับกองทุนให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลให้มากที่สุด โดยจะขยายเครือข่ายกลุ่มการทำงานซะกาตให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินงานโครงการในเครือข่ายเดียวกันและระหว่างเครือข่ายร่วมกันในระดับภูมิภาคต่อไป
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น