ท้องผูก ในผู้สูงอายุ

ท้องผูก คืออาการถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องเบ่งและใช้เวลานาน อุจจาระมีลักษณะแข็งมาก หลังจากถ่ายเสร็จแล้วยังปวดท้องและมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด รวมถึงการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัย “ผู้สูงอายุ” ร่างกายจะเกิดความเสื่อมของวัยวะต่าง ๆ ทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมามากมาย  เช่น ปัญหาเรื่องการขับถ่าย ซึ่งมักจะพบว่า ผู้สูงอายุถ่ายยาก หรือมีปัญหาท้องผูก และการที่ผู้สูงอายุถ่ายยากจะนำมาสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้อีกมากมาย จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรมาทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาผู้สูงอายุถ่ายยาก พร้อมกับหาแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุถ่ายยากนี้

ปัญหาถ่ายยาก หรือท้องผูก มักจะมีสาเหตุใหญ่ ดังนี้

  1. รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย 
  2. ดื่มน้ำน้อย เนื่องจากศูนย์ที่กระตุ้นให้รู้สึกหิวน้ำทำงานไม่ค่อยดี ผู้สูงอายุจึงไม่ค่อยรู้สึกหิวน้ำ
  3. ไม่ได้ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา หรืออั้นอุจจาระบ่อย ๆ
  4. โรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง โรคทางระบบประสาท โรคที่สมองหรือไขสันหลัง โรคพาร์กินสัน เป็นต้นสามารถจะส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่าย ทำให้ขับถ่ายยาก
  5. ผลข้างเคียงของยาที่ต้องกินเป็นประจำทุกวัน ได้แก่
    • กลุ่มยาทางจิตเวช เช่น ยาที่รักษาอาการซึมเศร้า
    • ยาลดการบีบเกร็งของลำไส้ที่ใช้แก้ปวดท้อง เช่น ยาแก้ปวด Buscopan
    • ยารักษาโรคพาร์กินสัน และยาแก้แพ้บางชนิดที่ใช้กันเป็นประจำ เช่น Chlorpheniramine (CPM)
    • ยากันชัก เช่น Dilantin
    • ยาลดความดันโลหิต ได้แก่ Diltiazem, Verapamil, Clonidine
    • ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของ Morphine หรืออนุพันธ์ของ Morphine
    • ธาตุเหล็ก ที่มีอยู่ในยาบำรุงเลือด ยาลดกรด
    • วิตามินเสริมที่มีส่วนผสมของแคลเซียม หรืออะลูมินัม
    • ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น Diclofenac, Piroxicam และ Indomethacin
      หากผู้สูงอายุมีประวัติกินยาในกลุ่มนี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการท้องผูกได้
  6. ขาดการออกกำลังกาย 
  7. เกิดภาวะการอุดกั้นของลำไส้
  8. การทำงานของลำไส้ผิดปกติ
  9. มีความเครียด 

วิธีแก้ปัญหา

  1. ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
  2. ในแต่ละวันควรกินผักและผลไม้ให้ได้มื้อละไม่ต่ำกว่า 2 ทัพพี โดยเลือกผักที่มีกากใยสูง เช่น คะน้า ส่วนผลไม้เลือกที่เนื้อนิ่มเคี้ยวง่าย
  3. ควรกินอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง และธัญพืชต่าง ๆ
  4. ควรกินอาหารที่มีพรีไบโอติกส์ หรือโพรไบโอติกส์ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต
  5. ควรขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่กลั้นอุจาระ
  6. ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  7. พักผ่อนให้เพียงพอ
  8. รักษาอารมณ์ไม่ให้เครียด หรือมีความกังวล

อาการท้องผูกในผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่จะปล่อยผ่าน เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพที่คาดไม่ถึง เช่น 

  1. เกิดภาวะซึมเศร้า การท้องผูกอาจเป็นสาเหตุเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากขึ้น เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบประสาทและสารเคมีในสมอง 
  2. อาการท้องผูกสามารถทำให้ระบบย่อยอาหารมีปัญหา ผู้สูงอายุหลายคนอาจพบปัญหาในการดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกาย นำมาซี่งโรคที่เกิดกับระบบย่อยอาหารได้ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  3. อาการท้องผูกอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ เนื่องจากเมื่ออาหารหรือของเสียไม่สามารถขับถ่ายออกมาได้ ทำให้คงค้างอยู่ในร่างกายนานเกินไป อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้
  4. ริดสีดวงทวาร เป็นอาการที่มีสาเหตุจากภาวะท้องผูกเป็นระยะเวลานาน เกิดจากภาวะหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพองและบวม ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บเมื่อขับถ่าย และหากอักเสบจะทำให้เจ็บปวดมากจนไม่สามารถนั่งได้เลยทีเดียว

การรักษาสุขภาพของผู้สูงอายุโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มีกากใย รวมไปถึงการดื่มน้ำให้มาก อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาสุขภาพของผู้สูงอายุเพื่อที่จะป้องกันปัญหาท้องผูกและระบบย่อยอาหารให้มีประสิทธิภาพนั่นเอง


ข้อมูล
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ท้องผูกในผู้สูงวัย
https://www.thairath.co.th/lifestyle/lifestyle45plus/2716807
https://chiangmairam.com/news_detail/639


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 229
เดือนมีนาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น