"บุหรี่ไฟฟ้า" คือภัยร้ายตัวใหม่ของสังคมไทย ที่ผู้ใหญ่จะมองข้ามไม่ได้อีกต่อไป เพราะนอกจากส่งผลโดยตรงต่อสมอง และระบบประสาท ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจพบว่า เด็กอายุ 10-19 ปีที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่าครึ่ง หรือ 53% มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้า
ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้ากำลังเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักสูบหน้าใหม่และวัยรุ่นหญิงที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น บุหรี่ไฟฟ้าจึงถือเป็นภัยร้ายตัวใหม่ในวัยรุ่น เพราะทำให้วัยรุ่นที่ไม่เคยนิยมสูบบุหรี่มาก่อน เช่น ผู้หญิง เข้ามาสนใจสูบบุหรี่ไฟฟ้า จนสุดท้ายนำไปสู่การเสพติด สิ่งเสพติด อื่น ๆ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในสารเสพติดอันตราย หากเข้าถึงแล้วก็จะขยายไปยังสารเสพติดตัวอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น
ข้อมูลสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 พบว่า วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า 5.3% สูบเป็นประจำ 2.9% แต่ที่น่าตกใจคือ 30% ของวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำเป็นผู้หญิง ขณะที่อัตราการสูบบุหรี่มวนในเด็กผู้หญิงมีเพียง 2% เท่านั้น
ทั้งนี้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย เพราะวางขายในตลาดนัด ทางออนไลน์ และบางพื้นที่มีการแจกบุหรี่ไฟฟ้าให้วัยรุ่นลองใช้อีกด้วย อีกทั้งบุหรี่ไฟฟ้าถูกออกแบบให้ดูทันสมัย มีรสชาติให้เลือกหลากหลายชนิด เช่น รสขนมหวาน ลูกอม หมากฝรั่ง ผลไม้ น้ำอัดลม ชาเขียว นมเปรี้ยว ที่ล้วนเป็นรสชาติที่เด็กและวัยรุ่นชื่นชอบ และยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป้าหมายสำคัญของบุหรี่ไฟฟ้าคือเด็กและเยาวชน
ข้อมูลงานวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทยระดับมัธยมต้นอายุ 11-16 ปี (อายุเฉลี่ย 13 ปี) พบสาเหตุสำคัญ 5 ประการ ที่ทำให้เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้าได้แก่
- พ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ไฟฟ้า
- เพื่อนสูบบุหรี่ไฟฟ้า
- เพื่อนและคนรอบตัวมองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ
- เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน
- เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย
ข้อมูลการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ อายุ 14-17 ปี พบว่าเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 72% มีการใช้สารเสพติดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สุรา กัญชา บุหรี่ และงานวิจัยในต่างประเทศพบว่าเด็กที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตอนอายุยิ่งน้อย ยิ่งเสี่ยงที่จะติดสารเสพติดอื่น ๆ มากขึ้น
พ่อแม่ต้องป้องกันไม่ให้ลูกสูบบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยการสื่อสารแบบเปิด พูดคุยกับลูก ๆ ของคุณเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า บอกพวกเขาว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะก่อให้เกิดปัญหานำไปสู่การใช้สารเสพติดต่าง ๆ แล้วยังมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติดจะส่งผลโดยตรงต่อสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชนที่สมองจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ พิษของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลให้เด็กที่สูบมีอาการหงุดหงิดง่าย เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ความจำแย่ลง ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น และมีภาวะซึมเศร้า
ข้อสำคัญ พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยการไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าและไม่สูบบุหรี่ธรรมดา ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะเลิกสูบบุหรี่ เราเชื่อว่า หากคุณเป็นตัวอย่างที่ดี แน่นอนลูกของคุณมีแนวโน้มที่จะฟังคุณมากขึ้น
https://www.hfocus.org/content/2022/11/26317
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/judprakai/1036326
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น