“ผู้สูงวัยมักตื่นกลางดึก?”

สำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุมักจะพบเห็นพฤติกรรมการนอนหลับของคุณปู่ ย่า ตา ยาย หรือ แม้แต่คุณพ่อคุณแม่ของเรามีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เช่น เข้านอนช้ากว่าคนอื่น แต่กลับเป็นคนที่ตื่นเร็วที่สุด บางทีก็ตื่นขึ้นมากลางดึก นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ นอนกลางวันตื่นตอนกลางคืน นอนหลับข้ามวันข้ามคืน หรือบางที ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ติดต่อกัน 24 ชั่วโมงก็มี คำถามที่สำคัญก็คือ พฤติกรรมเหล่านี้ คือเรื่องปกติของผู้สูงอายุหรือเปล่า?

โดยปกติเวลาการนอนหลับที่ร่างกายต้องการ คือประมาณวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน นั่นหมายความว่า ผู้สูงอายุคนไหนที่มีพฤติกรรมการนอนไม่หลับ ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะมองข้ามอีกต่อไป

หากนอนหลับไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลกระทบให้ผู้สูงอายุรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ความสามารถในการจำสิ่งต่าง ๆ ลดลง คิดอะไรไม่ค่อยออก หรือคิดได้ช้าลง และก่
อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล

สาเหตุการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ ได้แก่

การทำงานของร่างกายที่เสื่อมลง ระดับฮอร์โมนที่ลดลง โรคประจำตัวที่รบกวนการนอน และการรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด ทำให้การนอนหลับลึกหรือพักผ่อนร่างกายของผู้สูงอายุมีเปอร์เซ็นน้อยกว่าคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นลักษณะปกติของผู้สูงอายุ แต่ถ้าหากในผู้สูงอายุรายไหนที่มีความวิตกกังวลอาจส่งผลให้การนอนไม่หลับมีอาการที่หนักขึ้นกว่าเดิมได้

ในเรื่องของการตื่นนอนกลางดึกที่ผู้สูงอายุรวมถึงคนส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกเพราะคิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วหากมีการตื่นกลางดึกและสามารถนอนหลับต่อได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง และไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพการนอนแต่อย่างใด

การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ เริ่มต้นให้ดูก่อนว่าผู้สูงอายุท่านนั้น มีเรื่องใดวิตกกังวลอยู่หรือไม่ หากมีให้จัดการที่เรื่องนั้น เมื่อไม่มีความวิตกกังวลก็จะสามารถนอนหลับได้ในที่สุด สำหรับผู้ที่ไม่มีเรื่องวิตกกังวล อาจมีในเรื่องของโรคประจำตัวที่รบกวนการนอน ซึ่งควรดูแลที่ตัวโรคนั้น ๆ

แต่ในผู้สูงอายุบางรายมีความวิตกกังวลในเรื่องของการนอนไม่หลับโดยตรง ส่วนนี้ควรให้ผู้สูงอายุทำจิตใจให้ผ่อนคลายก่อนนอน อาจฟังเพลงในจังหวะเบาๆ รวมถึงการทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อความผ่อนคลายแล้วจึงเข้านอน จะช่วยให้หลับสบาย ไม่ควรสั่งหรือบังคับให้ตัวเองนอน เพราะจะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น และส่งผลให้นอนไม่หลับ

นอกจากนี้สิ่งที่ควรทำคือการควบคุมระยะเวลาในการนอน คือการตื่นและการนอนให้ตรงเวลาในทุก ๆ วัน จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

จัดสภาพแวดล้อมของห้องนอน ให้เอื้ออำนวยต่อการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพ เช่น อุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป เป็นต้น

หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ในช่วงเวลาเย็น และไม่ควรดื่มน้ำในช่วงเวลา 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน ถ้ามีปัญหาปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อย ๆ

หากิจกรรมที่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวในช่วงเวลากลางวัน และออกกำลังกายในเวลาที่เหมาะสม เพื่อสร้างการรับรู้ว่าเป็นช่วงเวลากลางวัน

งดการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย

การใช้ยานอนหลับก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษา แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะไม่ค่อยใช้ยาในการรักษา แต่จะรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ก่อน เว้นแต่ในกรณีที่คนไข้มีความต้องการที่จะรักษาโดยเร็วที่สุด แพทย์จึงจะใช้ยาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีพฤติกรรมการซื้อยาทานเอง อาจเป็นยาที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาลดน้ำมูกที่ช่วยให้นอนหลับ ซึ่งไม่ขอแนะนำเพราะอาจส่งผลข้างเคียงตามมา


ข้อมูล
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/นอนไม่หลับผู้สูงวัย/https://www.nakornthon.com/article/detail/ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ-ตื่นกลางดึก-ไม่ใช่เรื่องปกติ
https://allwellhealthcare.com/elderly-sleepless/


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 229
เดือนมีนาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น