ต้นแบบซะกาตเพื่อการสร้างอาชีพ

กรรณทิมา

รายงานวิจัยการวิเคราะห์ความไม่เท่าเทียมกันของมุสลิมไทย 3 ชิ้น ของ สันต์ชัย ยุติกา (2566) อนัส เจริญมิน (2566) และฮาบีบะห์ แตเป๊าะ (2566) ที่เปรียบเทียบระหว่างภูมิภาค ซึ่งเก็บข้อมูลในช่วงปี พ.ศ. 2565/66 ได้ชี้ไปที่ข้อค้นพบคล้าย ๆ กัน คือ มุสลิมไทยมีรายได้น้อยกว่าคนไทยกลุ่มอื่น ซึ่งมีผลต่อปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคม

ด้วยเหตุดังกล่าว ปัญหาความยากจนในหมู่มุสลิมไทย จึงเป็นปัญหาที่ต้องการดูแลแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ โดยศาสนาอิสลามมีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ดี คือ “ระบบซะกาต” ที่เป็นข้อบังคับทางศาสนา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมเรื่องรายได้ของมุสลิมไทย

อย่างไรก็ตาม หลายพื้นที่มีการจัดตั้งกองทุนซะกาตระดับชุมชน แต่ยังไม่เกิดผลในด้านการให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจนหรือคนขัดสนในพื้นที่ เนื่องจากขาดการบริหารจัดการที่ดี ในช่วงปี 2565-2566 มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย ได้ริเริ่มการพัฒนาเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับภูมิภาคในพื้นที่ภาคใต้ โดยผลักดันให้เกิดองค์กรพันธมิตร 4 แห่ง (จังหวัดระนอง ตรัง สงขลา และปัตตานี) ที่เป็นแกนหลักในการสร้างเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับชุมชน จำนวน 36 แห่ง ที่มีการบริหารจัดการกองทุนซะกาตที่เป็นระบบ สามารถจัดเก็บรวมรวมซะกาตในพื้นที่ และนำมาแจกจ่ายแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาตในพื้นที่ได้ตรงตามเป้าหมาย 

การจ่ายซะกาต เป็นการขัดเกลาจิตใจของผู้ที่มีทรัพย์สินให้สะอาดจากความตระหนี่ถี่เหนียว ขณะเดียวกันเป็นการ ทำความสะอาดทรัพย์สินที่หามาได้ให้สะอาดบริสุทธิ์

ซะกาต เมื่อมีการแจกจ่ายออกไปให้กับคนจน คนขัดสน หรือคนมีหนี้สิน จะทำให้คนกลุ่มเหล่านี้มีกำลังที่จะสร้างโอกาสให้กับตนเอง โดยสามารถนำเงินซะกาตนั้นมาต่อยอดสร้างอาชีพให้กับตนเองได้

โครงการ "ต้นแบบซะกาต เพื่อการสร้างอาชีพ" เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ มูลนิธิฯ จะหนุนเสริมกับองค์กรพันธมิตรทั้ง 4 แห่งเดิม โดยผลักดันให้เกิดการสร้างอาชีพทางเลือกให้แก่ผู้ที่ได้รับซะกาต เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ กระตุ้นให้เกิดการช่วยเหลือของคนในชุมชนในรูปแบบการจ่ายซะกาตให้กับมุสลิมที่ยากจน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างอาชีพมีรายได้ครัวเรือน มีความเป็นอยู่ในสังคมที่ดีขึ้น มีความสุขทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี  

ยิ่งไปกว่านั้น ความคาดหวังของโครงการ คือ เมื่อผู้รับซะกาตมีรายได้และมีฐานะดีขึ้น มีค่าใช้จ่ายที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จะได้พัฒนาตนเองปรับเปลี่ยนจากผู้รับซะกาตเป็นผู้ไม่รับซะกาต และอาจเป็นผู้จ่ายได้ในอนาคต


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 229
เดือนมีนาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น