กระดูกคอเสื่อม

กระดูกคอเสื่อมเป็นหนึ่งในอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของใครหลายคน ไม่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้งานร่างกายส่วนต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณส่วนคออย่างหักโหมจนเกินไป ก่อให้เกิดอาการเจ็บ ปวดได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกเสื่อมเร็วขึ้น

  • บุหรี่ เป็นปัจจัยทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกระดูกสันหลัง
  • การใช้งานในอิริยาบถและทำผิดลักษณะ เช่นการที่คอก้มเขียนหนังสือ หรือดูคอมพิวเตอร์นานๆ การนอนหนุนหมอนที่สูงมาก ทำให้คออยู่ในท่างอผิดปกติตลอดจนการนอนอ่านหนังสือ ดูทีวี หรือเงยคอทำงานเช่น ช่างซ่อมช่วงล่างรถยนต์ ก็ทำให้คออยู่ในลักษณะแอ่นไปด้านหลังตลอดเวลา ถ้าหากมีการใช้ผิดลักษณะเรื้อรัง    ก็ทำให้กระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้นได้
  • การได้รับอุบัติเหตุรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ กระดูกคอเกิดการกระแทก หรือคอมีการเหวี่ยงอย่างรุนแรง อาจเกิดการฉีกขาดของหมอนรองกระดูก หรือเอ็นข้อต่อกระดูกได้
  • การเล่นกีฬาบางชนิด เช่นฟุตบอล ที่มีการโหม่งลูกฟุตบอล เล่นอเมริกันฟุตบอล ทำให้เกิดการกระแทกบริเวณศีรษะหรือคอบ่อยๆ การเล่นโยคะบางท่า เช่น ท่าศีรษะโหม่งพื้นรับน้ำหนักตัว

อาการแสดงของกระดูกคอเสื่อม

  • ไม่มีอาการแสดง อาจจะมีอาการเมื่อยๆ คอ เป็นๆหายๆ แต่ก็ไม่ได้สังเกต ไม่ได้รักษา
  • ปวดคอเรื้อรัง กินยาแก้ปวดก็ดีขึ้น ต่อมากลับมาปวดคออีก บางรายเวลาแหงนคอก็มีอาการปวดร้าวไปบริเวณสะบักหรือหัวไหล่
  • ปวดคอร้าวไปแขน แสดงว่ากระดูกคอเสื่อมเริ่มมีการกดทับเส้นประสาท อาจจะมีประวัติ เหมือนมีไฟช็อตร้าวจากคอไปบริเวณข้อศอกหรือนิ้วมือ เสียวแปล๊บๆ ต่อมาอาการเสียวดีขึ้นแต่รู้สึกชาและปวดแขน แขนล้าไม่มีแรง
  • ไม่มีอาการปวดคอแต่รู้สึกปวดไหล่ ร้าวไปข้อศอก ปวดล้าๆ เมื่อย อาจจะมีอาการชาร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ 
  • มีอาการเดินเซ หรือแขนขา อ่อนแรง โดยไม่ปวดคอ ถ้ามีการกดทับเส้นประสาทอย่างรุนแรงก็ทำให้เดินไม่ได้ หรือควบคุมการอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้

แนวทางป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง หยุดสูบบุหรี่
  • ระวังอิริยาบถขณะทำงาน ไม่ก้ม-เงยคอนานเกินไป
  • ขณะทำงานควรหาเวลาหยุดพัก เพื่อออกกำลังกายกล้ามเนื้อคอ เคลื่อนไหวคอ หรือเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ ชั่วโมง
  • เก้าอี้นั่งทำงานควรมีพนักพิง หนุนคอได้พอดี
  • เวลานอน ใช้หมอนหนุนบริเวณก้านคอ ไม่ให้ศีรษะก้ม หรือ เงยมากเกินไป ระดับที่เหมาะสมคือ ศีรษะอยู่ระดับเดียวกับพื้น
  • ออกกำลังกายฝึกกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง

กระดูกคอเสื่อมเป็นอีกโรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก หากปล่อยไว้นาน นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น กระดูกคอเสื่อมและกดทับรากประสาทอย่างรุนแรงจนไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ อาจทำให้พิการได้ 

ข้อมูล
https://kdmshospital.com/article/cervical-spondylosis-symptoms-and-treatments/
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2023/treatment-for-cervical-spondylosis

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 230
เดือนเมษายน 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th


ความคิดเห็น