“มะตาด” สามารถพบตามภาคต่าง ๆ ของไทย ภาคเหนือ พบที่เชียงใหม่ เรียกว่า ส้านป้าว อีสาน พบที่สุรินทร์ ภาคกลางพบในจังหวัดปทุมธานี กาญจนบุรี และปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ภาคใต้ พบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และพังงา เรียกว่า แส้น นอกจากนี้ มะตาด ยังมีชื่อเรียกตามพื้นเมืองว่า ส้านกวาง ส้านท่า ส้านใหญ่ ส้มปรุ และชื่อทั่ว ๆ ไป เรียกว่าส้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Dillenia indica L.
มะตาดเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในป่าดิบชื้น หรือป่าฝนเขตร้อนใกล้แม่น้ำ ป่าพรุ ในภาคใต้ของไทยนอกจากนี้ ยังการกระจายตัวของต้นมะตาด อยู่ในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ยูนนาน คาบสมุทรมาลายู ลาว เวียดนาม กัมพูชา ชวา
คนไทยเชื้อสายมอญต่างรู้จัก “มะตาด” กันมาเนิ่นนาน สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่บางคน เรียกลูกมะตาดว่า แอปเปิลมอญ เพราะผลสวยและมีรสเปรี้ยว ๆ คล้ายแอปเปิลฝรั่ง จนเรียกกันติดปากว่า “มะตาด คือ แอปเปิลมอญ” นั่นเอง เนื่องจาก ต้นมะตาดมักจะให้ผลผลิตในช่วงปลายปี ระหว่างเดือน สิงหาคม – ตุลาคม ดังนั้น ชาวไทยเชื้อสายมอญจึงนิยมแกงมะตาดเป็นอาหาร เรียกว่า 1 ปี ได้กินแกงมะตาดกันหนเดียว
“มะตาด” เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร ไม่ผลัดใบเรือนยอดทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ ทึบ ลำต้นของมะตาดมักคดงอ ไม่ตั้งตรง และมักมีปุ่มปมปรากฏอยู่บนลำต้น ซึ่งจะเกิดจากร่องรอยของกิ่งแก่ที่หลุดร่วง ส่วนเปลือกต้นเป็นเปลือกหนา มีสีน้ำตาลอมแดงหรือสีทองแดง เมื่อแก่เปลือกต้นจะเปลี่ยนเป็นสีเทา เส้นใบเห็นเด่นชัด ดอกมีขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 15-20 ซม.มีกลีบดอก 5 กลีบ สีขาว มีเกสรตัวผู้สีเหลือง ผลกลมมีขนาดใหญ่ สีเหลืองแกมเขียว สามารถรับประทานได้ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-12 ซม. ประกอบด้วย 15 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมี 5 เมล็ด
มะตาดผลสด มีรูปร่างเกือบกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 นิ้ว ไม่แตก มีกลีบเลี้ยงหุ้ม มะตาด มี 2 ชนิดคือ มะตาดข้าวเจ้า เนื้อหยาบกระด้าง มีเส้นกากมาก ลูกสีเขียวอ่อน และมะตาดข้าวเหนียว เนื้อนิ่ม เส้นกากน้อย สีเขียวเข้ม รสเปรี้ยวอมฝาด ชาวมอญนิยมนำมะตาดข้าวเหนียวมาแกง ทั้งแกงส้มและแกงคั่ว ผลสุกมีรสเปรี้ยว นิยมใส่ในแยมและเจลลี่
มะตาด มีสารต้านอนุมูลอิสระ บำรุงร่างกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านอาการลมชัก ถอนพิษไข้ ลดไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง ช่วยในการขับถ่าย สมานแผล คนไทยเชื้อสายมอญในอดีต นิยมนำรากมะตาด มาใช้เป็นยาถอนพิษจากแมลงกัดต่อย เปลือกและใบมีรสฝาดใช้เป็นยาสมานแผลได้ดี เมือกที่ผลมะตาดมีลักษณะเป็นวุ้น ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะ ขับถ่ายสะดวก จากการศึกษาวิจัยพบว่า มะตาดเป็นพืชสมุนไพรมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา เช่น ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราหรือการบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ
นอกจากจะมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรแล้ว ยังใช้ผลมะตาดมาทำอาหาร เช่น นำผลอ่อนมาแกงคั่ว แกงส้ม ฯลฯ ต้นมะตาดยังนิยมปลูกเพื่ออาศัยร่มเงา ส่วนไม้จากต้นมะตาดยังใช้เป็นไม้ฟืนได้อีกด้วย
https://www.opsmoac.go.th/amnatcharoen-article_prov-preview-421491791858
https://www.wisdomking.or.th/th/tree-knowledge/มะตาด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น