โรคติดต่อที่เกิดจากแมว ได้แก่
แมวก็สามารถแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำได้เช่นเดียวกับสุนัข โดยเกิดจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่นโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ติดต่อมาสู่คนจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลีย บริเวณที่มีแผลรอยข่วน หากได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าแล้ว และไม่ได้รับการป้องกันที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากรับเชื้อประมาณ 15-60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี ที่สำคัญคือยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะเสียชีวิตทุกราย โดยอาการโรคพิษสุนัขบ้ามีดังนี้
คือ เริ่มด้วยอาการปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาการที่พบได้บ่อย คือ คันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัดซึ่งแผลอาจหายสนิทไปนานแล้ว ต่อมาลุกลามไปที่อื่น ๆ ผู้ป่วยจะเกามากจนเลือดออกซิบ ๆ และมีอาการกลืนลำบากเพราะกล้ามเนื้อที่ลำคอและกล่องเสียงหดเกร็งตัว อยากดื่มน้ำแต่กลืนไม่ได้ ทำให้มีอาการกลัวน้ำ น้ำลายฟูมปาก บ้วนน้ำลายบ่อย กระวนกระวาย ตื่นเต้น ใจคอหงุดหงิด หายใจเร็ว ประสาทสัมผัสจะไวต่อการกระตุ้น ทำให้ตกใจง่ายและสะดุ้งผวาเมื่อถูกลม หรือได้ยินเสียงดัง กล้ามเนื้อแขนขาเกร็ง กระตุก ระยะหลังจะเป็นอัมพาตหมดสติและเสียชีวิตภายใน 2-7 วัน นับจากเริ่มแสดงอาการ
วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดและสามารถป้องกันได้ 100% ก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุดเมื่อโดนแมวกัดหรือข่วนและต้องฉีดให้ครบกำหนดทุกเข็ม ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันคนไม่ให้ติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ แต่ก็ควรพาแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าด้วย สังเกตอาการและระวังแมวไม่ให้สัมผัสกับสัตว์อื่นที่อาจมีเชื้อพิษสุนัขบ้า และไม่ควรเข้าใกล้หรือยั่วยุแมวจรจัดเพราะอาจถูกกัดหรือข่วนและทำให้ติดเชื้อได้
2. โรคแมวข่วน (Cat scratch disease)
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง สามารถติดต่อสู่คนได้จากการถูกแมวกัดหรือข่วน แมวที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการป่วยแต่จะเป็นตัวแพร่โรคสู่คนได้ หากเจ้าของโดนข่วนหรือกัดอาการที่พบ คือ มีผื่นแดง ตุ่มพอง แผลหลุมที่บริเวณบาดแผล ต่อมน้ำเหลืองโต โรคนี้สามารถหายเองได้ ภายใน 4-8 สัปดาห์ส่วนคนที่มีร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อโรคนี้แล้ว ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่ตา ระบบประสาท โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน
วิธีป้องกันโรคแมวข่วน คือควรเลี้ยงแมวในระบบปิด เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากหมัดแมวที่มีเชื้อโรคนี้มากัดแมวของเราทำให้กลายเป็นพาหะมาสู่เรานั่นเอง นอกจากนี้ยังไม่ควรเล่นกับแมวแรงๆ โดยเฉพาะกับลูกแมวเพราะอาจจะทำให้ถูกแมวข่วนหรือกัดได้ เมื่อถูกกัดหรือข่วนควรล้างแผลและฟอกสบู่ให้สะอาดทันที อย่าให้แมวเลียแผล และควรควบคุมหมัดในแมวเพื่อลดโอกาสติดเชื้อในแมว
3. โรคติดเชื้อจากแผล
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อของแผลแมวกัด ส่วนมากเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากของแมว รวมทั้งแบคทีเรียที่พบอยู่บนผิวหนังของคน ที่ปนเปื้อนบนเขี้ยวแมว แล้วเข้าสู่บาดแผลแมวกัด ผู้ที่ถูกสัตว์กัดที่ไปพบแพทย์หลัง 8 ชั่งโมง มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว ส่วนมากบริเวณที่ถูกกัดจะมีรูเขี้ยวรอบ ๆ จะมีอาการปวด บวม แดง อาจมีหนองไหลออกจากรูเขี้ยว หากติดเชื้อจากแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรง ที่เรียกว่า “แบคทีเรียกินเนื้อคน” แบคทีเรียจะปล่อยสารที่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน จนเกิดอาการปวด แผลอย่างรุนแรง มีไข้สูง อ่อนเพลีย และเกิดเนื้อตายสีดำลุกลามอย่างรวดเร็วในแผล เนื้อตายสีดำเป็นแหล่งที่ทำให้ แบคทีเรียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนอาจลุกลามติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เสียชีวิตได้ หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาล แพทย์จะให้พักรักษาในโรงพยาบาล และรีบผ่าตัดเอาเนื้อตายสีดำออกจากแผล และฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือด
วิธีป้องกันโรคติดเชื้อจากแผลคือ เมื่อถูกแมวกัดควรรีบทำความสะอาดแผลด้วยสบู่ น้ำสะอาด และยาล้างแผล เปลี่ยนผ้าปิดแผลบ่อย ๆ และรีบเปลี่ยนผ้าใหม่ทันที หากผ้าพันแผลเดิมเปียกหรือสกปรก ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเวลาทำแผล และปิดแผลป้องกันเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกเข้าสู่บาดแผล พยายามให้แผลแห้งอยู่เสมอ ไม่ให้แผลเปียกน้ำ โดยเฉพาะเวลาอาบน้ำ
4. โรคบาดทะยัก
จะเริ่มแสดงอาการหลังได้รับเชื้อแบคทีเรีย ตั้งแต่ 2-3 วันแรกและอาจกินเวลาหลายสัปดาห์ อาการที่พบคือ ภาวะกรามติด กล้ามเนื้อคอแข็ง ปัญหาการกลืน กล้ามเนื้อท้องแข็ง เหงื่อออก ความดันโลหิตสูง
วิธีป้องกันโรคบาดทะยักคือควรรีบทำสะอาดบาดแผลและฆ่าเชื้อโรคทันทีที่ถูกแมวกัดหรือข่วน รวมทั้งควรฉีดวัคซีนบาดทะยักให้ครบกำหนดทุกเข็ม และควรฉีดซ้ำทุก 10 ปี เพื่อกระตุ้นภูมิ
5. โรคท็อกโซพลาสโมซิส
หรือบางคนเรียกว่าโรคอุจจาระแมวขึ้นสมอง เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวจากอุจจาระของแมวที่มีเชื้ออยู่ คนที่ได้รับเชื้อชนิดนี้อาจจะมีต่อมน้ำเหลืองโต อาจจะแสดงอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้หญิงที่มีครรภ์อาจจะทำให้แท้งได้
6. โรคเชื้อราบนผิวหนัง
เชื้อราที่อยู่บนผิวหนังของแมวสามารถติดสู่คนได้จากการสัมผัสหรือคลุกคลี ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่องมีความเสี่ยงต่อการติดโรคนี้มากขึ้น อาการที่จะแสดงออกก็คือจะเป็นวงแดง ผื่นคัน แนะนำให้หมั่นทำความสะอาดและล้างมือทุกครั้งหลังจากที่สัมผัสแมว
7. โรคหอบหืด หรือภูมิแพ้
เชื่อว่าโรคนี้เกิดจากขนแมวหรือแมวที่ไปคลุกฝุ่น ทางแก้ไขคือทำความสะอาดบ้านหรือหากจะนำแมวไปนอนด้วยแนะนำให้เช็ดตัวหรืออาบน้ำแมวก่อน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น