เครือข่ายลดการพึ่งพิงยาสูบ

ไฟซอล สะเหล็ม

ในปี 2561 มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) ได้ริเริ่มโครงการ “ลดการพึ่งพิงยาสูบ” โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เพื่อสร้างความเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลผลกระทบที่เกิดจากการปลูกใบยาสูบในพื้นที่นำร่อง และพัฒนากระบวนการหรือรูปแบบในการลดการพึ่งพิงยาสูบในพื้นที่นำร่อง ดำเนินการ 10 ชุมชนในพื้นที่นำร่อง จังหวัดสตูลและสงขลา (เฉพาะครัวเรือนที่ปลูกไว้สูบเองหรือขายเป็นรายได้เสริม) จาก 10 ชุมชนแรกที่เข้าร่วมโครงการ มีครัวเรือนที่ปลูกต้นยาสูบทั้งหมด 58 ครัวเรือน ซึ่งใน ปี 2563 ขยายเพิ่มอีก 6 ชุมชน โดยมี 3 ชุมชนจาก 6 ชุมชนเป็นพื้นที่ที่อยู่จังหวัดพัทลุง รวมทั้งหมด 16 ชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปี 2561-2564  โดยโครงการระยะที่ 1 พื้นที่ปลูกลดลง 6.46 ไร่ และโครงการระยะที่ 2 พื้นที่ปลูกลดลง 1.18 ไร่ ในภาพรวมลดพื้นที่การปลูกต้นยาสูบได้ 6.46 + 1.18 =  7.64 ไร่ เทียบเท่าผลผลิตยาเส้น 213.92 กก. เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการผลิตบุหรี่ เทียบเท่าการลดจำนวนบุหรี่ลงได้ 305,650 มวน  =  15,282.5 ซอง (มาตรฐานบุหรี่ 1 มวน ใช้ยาเส้น 0.7 กรัม ใบจากมวนเอง 1 มวน ใช้ยาเส้นน้อยกว่า 0.7 กรัม)

ปี 2565 โครงการลดการพึ่งพิงยาสูบ เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งจาก 3 ยุทธศาสตร์ภายใต้โครงการชุมชนสดใสไร้ยาสูบ ดำเนินการ 13 ชุมชนในพื้นที่จังหวัดสตูล สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช (เฉพาะครัวเรือนที่ปลูกไว้สูบเองหรือขายเป็นรายได้เสริม) ยุทธศาสตร์การลดการพึ่งพิงยาสูบ จะเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายด้วยกันเองใช้วิธีการแตกหน่อของเครือข่ายเดิม โดยชุมชุนเดิมที่เคยเข้าร่วมโครงการและสามารถลดพื้นที่การปลูกยาสูบได้เป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนใหม่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายใหม่ การดำเนินงานมุ่งเน้นให้ผู้นำชุมชน (ทุกศาสนา) และแกนนำเยาวชนรุ่นใหม่ เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนควบคุมอุปทานลดพื้นที่การปลูกยาสูบ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ เกษตรจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อสรรหากระบวนการหรือรูปแบบในการลดการพึ่งพิงยาสูบในพื้นที่นำร่อง เกิดการตั้งกลุ่มเฉพาะที่มีภารกิจร่วมกัน เช่น กลุ่มธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชทดแทน เป้าหมายที่วางไว้คือการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายออนไลน์ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาชาวไร่ยาสูบที่สนใจอยากจะเลิกปลูกยาสูบ และขยายพื้นที่โดยการแลกเปลี่ยนและให้ข้อมูลความรู้การลดการพึ่งพิงยาสูบในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการปลูกยาสูบ โดยให้ความสำคัญกับทุนเดิมของ สสม. เป็นเกณฑ์หลักในการคัดเลือกพื้นที่ ได้แก่ มัสยิดครบวงจร มัสยิดปลอดบุหรี่ ศิษย์เก่าโรงเรียนผู้นำสุขภาวะ ซึ่งได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนข้อมูลจากผู้นำชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงพื้นที่ใหม่ที่ไม่ใช่ทุนเดิม สสม. รวมทั้งหมด 13 ชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การลดการพึ่งพิงยาสูบ ตั้งแต่ปี 2565-2566 โดยในปี 2565 พื้นที่ปลูก 24.90 ไร่ และในปี 2566 พื้นที่ปลูกเหลือเพียง  13.14 ไร่  ในภาพรวมลดพื้นที่การปลูกต้นยาสูบได้ 24.90 – 13.14 =  11.76 ไร่ เทียบเท่าผลผลิตยาเส้น 329.28 กก.

พื้นที่ชุมชนนกรำ อ.กงกรา จ.พัทลุง เปลี่ยนจากปลูกยาสูบเป็นถั่วใต้ดิน

ปี 2567 โครงการเครือข่ายลดการพึ่งพิงยาสูบ เป็นการพัฒนากลุ่มแกนนำลดการพึ่งพิงยาสูบ ซึ่งเน้นบทบาทของชาวไร่ที่เลิกปลูกยาสูบและกลุ่มเยาวชน โดยการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายระดับพื้นที่ เพื่อสืบทอดงานลดการพึ่งพิงยาสูบให้เกิดความยั่งยืน โดยจะบูรณาการการทำงานและร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย ให้รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมยาสูบที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน เช่น ปัญหาบุหรี่หนีภาษี ปัญหาการอุดหนุนชาวไร่ยาสูบ ปัญหาการทำตลาดนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มสตรี และเยาวชน เพื่อรวบรวมข้อมูลจากการทำงานสกัดเป็นนโยบายช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

โครงการฯ ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการสื่อสาร โดยใช้การสื่อ 2 ด้าน คือ 1) ด้านประชาสัมพันธ์ที่เน้นสื่อสิ่งพิมพ์ร่วมในกระบวนการจัดกิจกรรม และ 2) ด้านการสร้างกระแสผ่านการสื่อสารออนไลน์ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ประหยัด เพื่อนำเสนอชุมชนต้นแบบหรือชุมชนที่ได้ยกระดับการส่งเสริมพืชทดแทนที่จะนำมาปรุงเป็นอาหารและสร้างผลิตภัณฑ์จากพืชทดแทน รวมถึงการพัฒนาเป็นตลาดนัดพืชทดแทนยาสูบ สร้างอาชีพให้แก่ชาวไร่ยาสูบ  นอกจากนี้ยังลดการสูบในกลุ่มผู้สูบและป้องกันนักสูบและผู้ปลูกหน้าใหม่ โดยจะนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประโยชน์ของการลดการพึ่งพิงยาสูบ และการประชาสัมพันธ์โครงการ ด้วยการมอบสื่อที่เหมาะสมสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการและกิจกรรมต่างๆ ให้กลุ่มเป้าหมายนำไปขับเคลื่อนตลอดโครงการ




สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 231
เดือนพฤษภาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th


ความคิดเห็น