ใช้แอร์ให้ถูกวิธี

มีคนบอกว่าประเทศไทยมีสองฤดู คือฤดูร้อน กับฤดูร้อน...หาย เมื่ออากาศร้อนขนาดนี้ไม่ให้เปิดเครื่องปรับอากาศเลยก็คงจะไม่ได้ ซึ่งก็ส่งผลให้ค่าไฟแพงหูฉี่ แต่ค่าไฟที่แพงอาจไม่ได้เป็นเพราะเปิดแอร์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะการใช้แอร์แบบผิด ๆ โดยไม่รู้ตัว จึงขอเสนอวิธีใช้แอร์แบบไหนที่ทำให้เปลืองพลังงานและต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าเดิม แล้วแบบไหนจะประหยัดค่าไฟช่วงหน้าร้อนได้อย่างไรบ้าง ถ้าจำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศทุกวันแบบนี้

1. เปลี่ยนแอร์เก่า เป็นแอร์ใหม่

หากใช้แอร์เครื่องเดิมมาเป็นเวลานาน 10 - 15 ปีขึ้นไป แม้ว่าแอร์ยังให้ความเย็นอยู่ดี จึงยังไม่ควรเปลี่ยนเครื่องใหม่ แต่ระบบภายในของแอร์ก็เสื่อมไปตามการใช้งานอยู่ดี ซึ่งก็อาจทำให้เปลืองค่าไฟได้ เพราะแอร์เก่าต้องใช้พลังงานในการทำความเย็นมากกว่าปกติ แนะนำให้เลือกซื้อแอร์เครื่องใหม่จะดีกว่า ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาระบบของแอร์ให้ประหยัดพลังงาน และประหยัดไฟมากขึ้น เช่น แอร์ระบบ inverter

2. เปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส คู่กับเปิดพัดลม

การเปิดแอร์ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะทำให้แอร์กินไฟน้อยลงตามไปด้วย เพราะส่วนคอยล์ร้อนหรือคอมเพรซเซอร์ของแอร์จะทำงานน้อยลง เมื่อตั้งอุณหภูมิสูงขึ้น โดยคอมเพรสเซอร์จะทำงานไม่นานก็ตัดการทำงาน เพราะอุณหภูมิลงไปถึงจุดที่ตั้งไว้แล้ว การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ก็เพียงพอที่จะทำให้รู้สึกสบายตัว และเมื่อเปิดพัดลมเป่ามาที่ตัว จะยิ่งทำให้รู้สึกเย็นสบายขึ้นไปอีก เพราะการเปิดพัดลม ช่วยเพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศภายในห้องได้ อุณหภูมิในห้องจะลดลงประมาณ 2 องศาเซลเซียส สามารถประหยัดค่าไฟได้มากกว่าเปิดแอร์ในอุณหภูมิที่ต่ำ เช่น 23 – 24 องศาเซลเซียส

3. ลดความร้อนหรือความชื้นภายนอกและภายในห้อง 

หลอดไฟหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่อยู่ภายในห้องให้เปิดเฉพาะเท่าที่จำเป็น และปิดทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน เพราะหลอดไฟและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด เช่น เตารีด กาต้มน้ำ ฯลฯ จะปล่อยความร้อนออกมาขณะเปิดใช้งาน ทำให้อุณหภูมิภายในห้องสูงขึ้น และไม่ควรนำของชื้นเข้ามาในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ เช่น ไม่ควรปลูกต้นไม้หรือตากผ้าภายในห้อง เพราะจะเป็นการเพิ่มความชื้น และจะทำให้แอร์ต้องทำงานหนักขึ้น

4. ควรเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ ก่อนเปิดแอร์ประมาณ 30 นาที 

เมื่ออากาศจากภายนอกเข้ามาแทนที่อากาศภายในห้อง จะช่วยถ่ายเทความร้อน และยังช่วยลดกลิ่นอับต่าง ๆ ให้น้องลง โดยไม่จำเป็นต้องเปิดพัดลมระบายอากาศ และควรปิดประตูและหน้าต่างให้สนิทขณะเปิดแอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศร้อนจากภายนอกเข้ามา  ซึ่งจะทำให้แอร์ของเราทำงานหนักขึ้น

5. ควรปิดเครื่องปรับอากาศก่อนจะออกจากห้องอย่างน้อย 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

เพราะยังมีความเย็นหลงเหลืออยู่ โดยการปิดเครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU เร็วขึ้นวันละ 1 ชั่วโมง จะช่วยลดการใช้ไฟได้ 21 หน่วยต่อเดือน 

6. ติดแผงกันร้อนให้คอมเพรสเซอร์ 

ผู้ใช้แอร์ส่วนใหญ่มักมองข้ามความสำคัญของคอมเพรสเซอร์ ที่ตั้งอยู่ภายนอก โดยการนำไปวางไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น วางไว้บนดาดฟ้า วางไว้บนพื้นซีเมนต์กลางแดด หรือวางไว้ในที่ลมถ่ายเทไม่สะดวก ทำให้คอมเพรสเซอร์ ทำงานหนัก และลดทอนประสิทธิภาพการทำงานของแอร์ลง ส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงานและค่าใช้จ่าย ดังนั้นเราควรตั้งคอมเพรสเซอร์ ไว้ในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรือจัดหาร่มเงาให้ เช่น วางกระถางต้นไม้ไว้ใกล้ๆ เพื่อบังแดด และควรตั้งห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตร เพื่อให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ประมาณ 15-20% 

7. ตรวจเช็คและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ

เพื่อให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้อาศัยภายในห้อง เราควรหมั่นทำความสะอาดแอร์ โดยเราอาจทำความสะอาดแอร์อย่างเบื้องต้นด้วยตนเองได้ เช่นล้างแผ่นกรองอากาศ เป็นต้น

8. เลือกค่า BTU แอร์ ให้เหมาะกับขนาดห้อง

บางคนอาจมีความเข้าใจผิดว่า ยิ่งค่า BTU สูง ยิ่งดี ยิ่งทำให้ห้องเย็น แต่หากสูงเกินความจำเป็น จะทำให้คอมเพรสเซอร์ตัดบ่อย และหากต่ำเกินไป จะทำให้แอร์ทำงานหนักและกินไฟขึ้น จึงควรเลือกค่า BTU ให้เหมาะสมกับขนาดห้อง ควรเป็นรุ่นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 โดยสามารถพิจารณาเลือกได้ ดังนี้

  • แอร์ 7,000-9,000 BTU ขนาดห้อง 13-14 ตารางเมตร 
  • แอร์ 9,000-12,000 BTU ขนาดห้อง 16-17 ตารางเมตร 
  • แอร์ 11,000-13,000 BTU ขนาดห้อง 20 ตารางเมตร 
  • แอร์ 13,000-16,000 BTU ขนาดห้อง 23-24 ตารางเมตร 
  • แอร์ 18,000-20,000 BTU ขนาดห้อง 30 ตารางเมตร 
  • แอร์ 24,000 BTU ขนาดห้อง 40 ตารางเมตร


ข้อมูล
https://siaminterairsupply.com/2020/01/02/6-เคล็ดลับวิธีการใช้แอร์/ 
https://www.bnbhome.com/th/articles/save-air-conditioning-costs
https://home.kapook.com/view279207.html
https://home.kapook.com/view207702.html

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 231
เดือนพฤษภาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น