การใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้หลายคนประสบปัญหาการนอนหลับ ส่งผลให้หันมาพึ่งยานอนหลับเพื่อช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น แต่การใช้ยานอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพจิตในระยะยาว
ยานอนหลับ คือยาที่ออกฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับ ช่วยบรรเทาอาการเครียดและวิตกกังวล ยานอนหลับช่วยให้ผู้ที่มีความผิดปกติในการนอนหลับ ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ หรือผู้ที่มักจะตื่นกลางดึกแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อให้สามารถนอนหลับได้อย่างสนิทโดยไม่ตื่นขึ้นมาในตอนกลางดึกอีก ผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับจำนวนมากจึงนิยมใช้ยานอนหลับในการช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
ปัจจุบันมีการนำยาหลายกลุ่มมาใช้ช่วยให้นอนหลับ ซึ่งยาที่ใช้บ่อยมักเป็นยาในกลุ่ม Benzodiazepine โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง เพื่อช่วยคลายความกังวล และช่วยให้นอนได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ยาในกลุ่มนี้มีประโยชน์มาก แต่หากผู้ป่วยใช้ยาไม่ถูกต้องหรือมีการใช้ขนาดสูง ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการติดยานอนหลับได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการที่จำเป็นต้องใช้ยาขนาดที่สูงขึ้น เพื่อให้หลับได้ หรือ ที่เรียกว่า การดื้อยา นอกจากนี้ การที่ใช้ยานอนหลับในกลุ่มนี้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้นอนได้ยากขึ้น หากไม่ได้ใช้ยา
ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับจะเริ่มแสดงให้เห็น เมื่อผู้ใช้ยานอนหลับเกิดการติดยานอนหลับ และไม่สามารถนอนหลับได้หากปราศจากยานอนหลับ ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับมีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีอาการดังต่อไปนี้
ผลข้างเคียงในระยะสั้นจะมีอาการ ง่วงนอน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ สับสน มึนงง ท้องเสีย หรือ ท้องผูก ปากแห้ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง การตัดสินใจช้า สมองประมวลผลช้า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พลัดตกหกล้ม อาหารไม่ย่อย มีแก๊ซในกระเพาะอาหาร จุกเสียด แน่นท้อง
ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาวส่งผลต่อการทำงานของสมอง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนอนหลับ และทำให้ติดยานอนหลับ การดื้อยา รวมถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ส่งผลต่อความจำ ความจำเสื่อม หรืออาการโรคอัลไซเมอร์ อาจทำต่อเกิดภาวะซึมเศร้า สมรรถภาพทางเพศเสื่อม เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พลัดตกหกล้ม การกดระบบหายใจขณะหลับ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ผู้ที่ใช้ยานอนหลับไม่ควรเลิกยานอนหลับกระทันหันหรือหัก เพราะอาจทำให้เกิดมีอาการนอนไม่หลับที่รุนแรงกว่าตอนที่ยังไม่ได้ใช้ยา และจะทำให้เกิดอาการถอนยาได้ เช่น หงุดหงิด สับสนกระสับกระส่าย วิตกกังวล มีอาการสั่นหรือมีปัญหาระบบไหลเวียนของโลหิต เพราะฉะนั้นต้องลดขนาดยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
การรักษาอาการนอนไม่หลับที่ดีที่สุดคือการสร้างสุขนิสัยในการนอนที่ดี การฝึกการนอนหลับอย่างเป็นธรรมชาติ ควบคู่กับการค่อย ๆ เลิกยานอนหลับ และการบำบัดรักษาอาการนอนไม่หลับร่วมกันกับแพทย์ผู้ชำนาญการอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น มีสุขภาพกายและใจที่พร้อมกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง
https://bangkokmentalhealthhospital.com/th/sleeping-pills/
https://www.medparkhospital.com/lifestyles/sleeping-pills
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น